“เกตติวิทย์” ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ : ขุนพลแห่งสายน้ำ

HoonSmart.com>>เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) ผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้ก่อตั้ง LEO บริษัทน้องใหม่ที่กำลังจะเดินเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (MAI) วันที่ 5 พ.ย.นี้

สำหรับ ” เกตติวิทย์ ” ผู้ที่ตั้งใจทำธุรกิจตั้งแต่เด็ก ๆ จากเด็กอัสสัมชัญ  แล้วพุ่งเป้าเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เพื่อทำตามฝันในวัยเพียง 27 ปี หลังจากผ่านประสบการณ์ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาด สายการเดินเรือ บริษัทต่างประเทศ มาระยะหนึ่ง จึงได้เปิดบริษัท ลีโอ กรุ๊ป รวบรวมบรรดาเพื่อน ๆ ในสายงานเดียวกัน ร่วมสร้างลีโอขึ้นมาถึงปัจจุบัน LEO  มีอายุทางธุรกิจยาวนาน 30 ปี

ที่มาของชื่อ ลีโอ ได้ยินแล้ว ต้องนึกถึง ฟองเบียร์ละมุนลิ้น ยามค่ำคืน คละเคล้าด้วยเสียงเพลงเบา ๆ  …ชวนให้นึกอย่างนั้นจริง ๆ แต่หาใช่ไม่  ที่มาของ “ลีโอ”  คือ ราศีสิงห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ ” ซีอีโอ ตุ๋ย – เกตติวิทย์ ” คิดริเริ่มตั้งบริษัทนั่นเอง

ความน่าสนใจของ LEO  เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร ขนส่งทางทะเล , อากาศและทางบก เครือข่ายพันธมิตร 190 ประเทศทั่วโลก ฐานลูกค้า 1,200 ราย  ทีมงานคนรุ่นใหม่  สิ่งหนึ่งที่บริษัทโลจีสติกส์อื่นไม่มีคือ แผนกสื่อสารการตลาด ทำข้อมูลการตลาด  ทำให้ลูกค้าจดจำในความต่าง

” เกตติวิทย์” น่าจะเรียกได้ว่า เป็นขุนพล แห่งสายน้ำ หรือจ้าวขนส่งทางทะเล ก็ไม่ผิดนัก จากประสบการณ์ที่กลายมาเป็นจุดแข็งของ LEO อยู่ตรงนี้ ….โดยซีอีโอ ตุ๋ย เล่าว่า

” การเป็นเซลแมน หรือพนักงานขายสายการเดินเรือสหรัฐ (ยูเอส ไลน์) มาก่อน ทำให้รู้กฎระเบียบซึ่งเส้นทางการส่งสินค้าเข้า-ออก ทางเรือไป สหรัฐ  เป็นรูทหรือเส้นทางที่ยากที่สุด ด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวด พิธีการศุลกากรที่ยุ่งยาก  และยังมีคณะกรรมการกำกับธุรกิจเดินเรือ (FMC) ด้วยจุดแข็งนี้ ทำให้ LEO เป็นบริษัทตัวกลางที่นำส่งสินค้าเข้า-ออก ทางเรือไปยังสหรัฐมากที่สุด  เรียกได้ว่า “ลีโอ ” เน้นการขนส่งทางทะเล (SEA FREIGHT) เป็นหลัก  คิดเป็นสัดส่วนรายได้ส่วนนี้ถึง 64 %  ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งการให้บริการขนส่งทางเรือ อันดับ 1 เป็นตลาดเอเซีย อันดับ 2 สหรัฐ+แคนาดา และอันดับ 3 ยุโรป

ขณะเดียวกัน การเป็นตัวกลางขนส่งสินค้าทางอากาศ  (AIR FREIGHT) มีสัดส่วนเพียง 19 % และที่เหลือเป็นบริการอื่น ๆ เช่น ขนส่งทางบก รถบรรทุก การให้บริการคลังสินค้า

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เพิ่มเติมด้วยการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้การนำเข้า-ส่งออก ชะลอตัว แน่นอนว่า ย่อมกระทบต่อผู้ทำธุรกิจโลจิสติกส์ แต่สำหรับ LEO แล้ว ผลประกอบการปี 2562 ที่ออกมา สามารถทำกำไรได้ถึง 45.87  ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 ทำกำไร 26.50 บาท และไตรมาส 2/2563 กำไร 18.78 ล้านบาท งวด 6 เดือน กำไร 28 ล้านบาท ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เทียบช่วงเดียวกัน ไตรมาส 2/62 กำไร 20.60 ล้านบาท และ 6 เดือน 35.12 ล้านบาท

นั่นแสดงว่า จุดแข็งของธุรกิจ , การให้บริการ โดยโฟกัสตลาดที่ลีโอเก่ง และเป็นตลาดที่มีวอลุ่ม การนำเข้า-ส่งออกสูง ตลอดจนวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ล้วนเป็นสิ่งพิสูจน์ความแกร่งของธุรกิจท่ามกลางภาวะยากลำบากของเพื่อนในธุรกิจเดียวกันและนอกธุรกิจ

แม้ว่าลีโอ จะเติบโตต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รายได้และกำไร โตปีละ 20-25 % ซึ่งการรักษาการเติบโตให้ยั่งยืน เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายของการเป็นบริษัทมหาชน ในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น การเข้าตลาดเอ็มเอไอ เงินจากการระดมทุน  จึงมีส่วนสำคัญในการต่อยอดธุรกิจ เพื่อการเติบโตในอนาคต บนความคาดหวังของผู้ถือหุ้น

“เกตติวิทย์” บอกว่า การเติบโตหลังจากนี้ เงินทุนที่ได้มาจะขยายการลงทุนลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์  รองรับการให้บริการสายการเดินเรือ SINOKOR สายการเดินเรือเกาหลี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหนึ่งของลีโอ เป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูง จากปัจจุบันมีลานฝากตู้คอนเทนเนอร์ บนถนนบางนาตราด 10 ไร่ รองรับตู้ 3,500 ตู้ ขยายเพิ่มอีก 15-20 ไร่ รองรับตู้เพิ่มอีก  8,000 ตู้ และขยายการให้บริการห้องเก็บของ (LEO Self- Storage & E-Fulfillment Center) สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ช  ซึ่งรวมไปถึงการแพ็คของ ส่งของ ด้วย เพิ่มความสะดวกสบายลูกค้าที่มาใช้บริการ

ซีอีโอ เน้นย้ำว่า  ลีโอ ไม่เน้นการสร้างรายได้ โดยการตัดราคา  แต่เน้นสร้างผลกำไร สร้างความแตกต่าง ในการให้บริการเพื่อความพึงพอใจของลูกค้าต่อเนื่อง ติดตามงานใกล้ชิด

สิ่งการันตีคุณภาพการให้บริการและการบริหารจัดการ ของ “ลีโอ”  อีกอย่างก็คือ รางวัล ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกสินค้าและบริการดีเด่น ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่ง 7-8 ปีที่ผ่านมา ไม่มีบริษัทไหนได้รับรางวัลดังกล่าวเลย

ประกอบด้วยรางวัล Excellent Logistics Management Award (ELMA) ประจำปี 2016 สาขาผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร และ ปี 2019 สาขาผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกสินค้าและบริการดีเด่นประจำปี 2019 (Prime Minister’ s Export Award 2019) ในสาขา Best Service Enterprise Award – Logistics Services

“การชนะเลิศทั้งสองรางวัลในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความสามารถในการให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่มีความเป็นเลิศ และยังสะท้อนภาพการให้บริการที่เปี่ยมประสิทธิภาพ โดยจุดเด่นในการให้บริการที่ทำให้พวกเขาสามารถคว้ารางวัลในครั้งนี้ได้ก็คือ บุคลากรที่มีคุณภาพ ถึงพร้อมด้วยความรู้ความสามารถ รวมทั้งระบบการให้บริการที่เป็นเลิศ ที่สามารถตอบโจทย์ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า” ซีอีโอ กล่าวทิ้งท้าย