โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
หลายคนโดยเฉพาะคนที่ท้องอยู่ไม่ว่าจะท้องคนแรกหรือคนที่เท่าไหร่ก็ตาม เพราะเมื่อเริ่มท้อง ค่าใช้จ่ายต่างๆก็ตามมา ไม่ว่าจะเป็นค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร ซึ่งปัจจุบันแพงมาก และเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายทิ้ง เบิกประกันก็ไม่ได้ ยกเว้นประกันสังคมที่เพิ่งปรับปรุงสิทธิประโยชน์ กรณีคลอดบุตรจากปัจจุบันที่จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 13,000 บาท ต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง เพิ่มค่าตรวจและรับฝากครรภ์อีก 1,000 บาท ให้แก่ผู้ประกันตนโดยแบ่งจ่าย 3 ครั้ง คือ
๐ ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 500 บาท
๐ ครั้งที่ 2 อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 300 บาท
๐ ครั้งที่ 3 อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 200 บาท
แต่เพราะประเทศไทยมีอัตราการเกิดของประชากรลดลง โดยรายงานสถานการณ์ประชากรไทยปี 2558 “โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน” ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้หญิงจำนวนมากมีบุตรน้อยลง กล่าวคือผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49 ปี เคยมีจำนวนบุตรเฉลี่ยอยู่ที่ 6.3 คน ในปี 2507 แต่ในปัจจุบันกลับมีจำนวนบุตรเฉลี่ย 1.6 คน ยิ่งไปกว่านั้นมีการคาดการณ์ว่าจะลดน้อยลงไปอีก โดยคาดว่าในปี 2583 จะเหลือเฉลี่ย 1.3 คน ทําให้มีประชากรวัยแรงงานลดลงและอัตราส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จากโครงสร้างประชากร ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 คนไทย 66 ล้านคน แบ่งเป็นวัยเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 11.5 ล้านคน, วัยทำงานอายุ 15-59 ปี 43.2 ล้านคน และวัยชราอายุเกิน 60 ปี 11.3 ล้านคนเท่ากับประเทศไทยมีอัตราส่วนคนสูงอายุต่อประชากรทั้งประเทศอยู่ที่ 17.12% ถือเป็นสังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว และถ้าสัดส่วนนี้เกิน 20% จะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ดูแล้วไม่น่าจะนาน
ปัญหาที่เกิดก็คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องระบบสาธารณสุข และสวัสดิการต่างๆ เพื่อรองรับปัญหาในอนาคต ขณะที่กำลังแรงงานเริ่มน้อยลง เป็นภาระหนักของคนในวัยแรงงานที่ต้องดูแลทั้งตนเองและผู้สูงอายุอีกมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการจูงใจให้คนไทยมีลูกเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้โครงสร้างประชากรของประเทศมีความเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 338 (พ.ศ. 2561) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
“ให้เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรของตน ตามจํานวนที่จ่ายจริงสําหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวแต่ไม่เกินหกหมื่นบาท หากการจ่ายค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตรสําหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวมิได้จ่ายในปีภาษีเดียวกัน ให้ได้รับยกเว้นภาษี ตามจํานวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินหกหมื่นบาท ทั้งนี้ สําหรับเงินได้ พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด”
สรุปก็คือ ต่อไปค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดลูกเอาไปลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาทต่อการท้องแต่ละครั้ง ถ้าท้องข้ามปี เบิกได้แต่ละปีตามจ่ายจริง แต่รวมทุกปีต้องไม่เกิน 60,000 บาท
ทีนี้ ก็แค่รอประกาศมาตรการภาษีสนับสนุนการมีบุตรอีกตัวที่กรมสรรพากรจะยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ที่มีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท เพิ่มจากมาตรการเดิมที่ให้หักลดหย่อนบุตรได้ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวน
ดังนั้นบุตรที่เกิดก่อนปี 2561 หักลดหย่อนภาษีได้ตามปกติ หัวละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวน แต่ถ้าบุตรที่คลอดหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป นอกจากหักลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาทแล้ว ผู้เสียภาษียังนำค่าฝากครรภ์-ทำคลอดมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี รวม 90,000 บาท เฉพาะบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปเท่านั้นที่คลอดหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ คนละ 60,000 บาท