บล. คันทรี่ฯ รักษาเกรด BBB-ทริสมองกำไรโต หนี้-ทุนพอรับความเสี่ยง

HoonSmart.com>>ทริสคงอันดับเครดิต บล. คันทรี่กรุ๊ป  BBB- แนวโน้ม คงที่  เท่ากับ แม่  คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ในฐานะบริษัทลูกหลัก ความสามารถทำกำไรดี  โดยเฉพาะนายหน้าซื้อขายตราสารอนุพันธ์ ส่วนแบ่งตลาดกระโดดขึ้นเป็นเบอร์ 1 สัดส่วน 11.8%  ฐานทุน ภาระหนี้เพียงพอรับความเสี่ยงเกินความคาดหมายได้ 2-3 ปี และขยายธุรกิจ 

บริษัททริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร บล. คันทรี่กรุ๊ป ที่ระดับ BBB- ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต คงที่ สะท้อนถึงฐานะของบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลักของ บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ได้รับอันดับเครดิต BBB- แนวโน้มอันดับเครดิต คงที่ ) ที่มีฐานทุนประมาณ 36% และรายได้ถึง 88% ของบริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา และยังมีความเชื่อมโยงกับแม่ ในเชิงการบริหารจัดการ มีการควบคุมดูแลทิศทางและการดำเนินงานของบริษัทผ่านทางคณะกรรมการของบริษัท รวมถึงยังเป็นผู้บริหารจัดการแหล่งเงินทุนและนโยบายการลงทุนของกลุ่มอีกด้วย

บริษัทมีสถานะทางธุรกิจในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และธุรกิจตราสารอนุพันธ์ทิศทางที่ดีขึ้นตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะตราสารอนุพันธ์ ทำให้ส่วนแบ่งรายได้พุ่งขึ้นจาก 2.6% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 11.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยอยู่ในอันดับที่ 1  ทริสคาดว่าแนวโน้มในทางบวกต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนธุรกิจอื่นๆ ก็ดีขึ้นเช่นกัน แต่ยังคงไม่มากนัก บริษัทมีส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ที่ 2.1% จาก 1.0% ในปี 2561 และธุรกิจวาณิชธนกิจดีขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ยังคงไม่มากนักด้วยส่วนแบ่ง 2.6% เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย 3 ปี

บริษัทยังมีฐานลูกค้ากระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มนักลงทุนรายย่อย คิดเป็นสัดส่วน 80% ของมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยในปี 2562 รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์คิดเป็น 58% ของรายได้รวมเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 52% ส่วนรายได้จากกำไรจากเงินลงทุน อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมโดยมีกำไรจากเงินลงทุนที่มาจากธุรกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น บล็อคเทรด (Block Trade) อยู่ในสัดส่วนที่มากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในปี 2562 บริษัทมีกำไรจากเงินลงทุนคิดเป็นสัดส่วน 14% ของรายได้รวมเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 13%

ทริสประเมินว่าฐานทุนและภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอรองรับการขาดทุนที่นอกเหนือความคาดหมายในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้าได้ โดยวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงที่ระดับประมาณ 15% โดยเฉลี่ย 4 ปี (2562-2565) ถึงแม้ว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 13.7% ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2563 จาก 28.7% ในปี 2561 จากการลดทุนประมาณ 1 พันล้านบาทในช่วงปลายปี 2562 และจากการขยายธุรกิจก็ตาม

นอกจากนี้ทริสยังประมาณการว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับประมาณ 1% ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า แม้ว่าบริษัทจะมีผลขาดทุนจากเงินลงทุนในตราสารหนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ก็ตาม แต่เชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เนื่องจากบริษัทได้ทำการปรับปรุงนโยบายการบริหารความเสี่ยงให้รัดกุมมากขึ้นเพื่อป้องกันผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นจากเงินลงทุนในอนาคต

ขณะเดียวกันบริษัทจะรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิเอาไว้ที่ระดับประมาณ 60% ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าอยู่ที่ 66.0% ปรับตัวดีขึ้นจาก 81.9% ในปี 2561 และอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 64.5%  นอกจากนี้บริษัทมีธุรกรรมซื้อขายตราสารหนี้และหลักทรัพย์ด้วยบัญชีของบริษัทเอง  ที่มีนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ค่อนข้างระมัดระวัง เช่น นโยบายการวางหลักประกันสำหรับทั้งเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ที่เข้มงวด แต่ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดที่ผันผวนเป็นอย่างมาก โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีต้นทุนทางเครดิตที่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีแล้วที่ระดับ 3.4% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 0.1% จากผลขาดทุนทางด้านเครดิตจากธุรกรรมบล็อคเทรดในช่วงที่ตลาดปรับตัวลดลงในเดือนมีนาคม 2563

บริษัทมีสถานะแหล่งเงินทุนในระดับปานกลางด้วยอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพระดับประมาณ 73% โดยเฉลี่ย 4 ปี (2562-2565) ณ สิ้นเดือนมิ.ย.อัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพอยู่ที่ระดับ 62.6% ลดลงจากระดับ 148.3% ในปี 2561 จากการลดทุนประมาณ 1 พันล้านบาทในช่วงปลายปี 2562 และจากขนาดของเงินลงทุนที่ขยายตัว อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัทแม่  ในรูปของหุ้นกู้ด้อยสิทธิจำนวนทั้งสิ้น 940 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2562

บริษัทยังมีสถานะสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอด้วยอัตราส่วนความครอบคลุมของสภาพคล่องโดยเฉลี่ย 4 ปีที่ระดับประมาณ 1.1 เท่า   ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจำนวนทั้งสิ้น 1.8 พันล้านบาทจากสถาบันการเงินหลายแห่ง