HoonSmart.com>>แบงก์ชาติยืนยันไม่ต่อเวลาช่วยลูกหนี้เป็นการทั่วไป มูลหนี้ทั้งหมด 6.89 ล้านล้านบาท ลูกหนี้ 94% มีทางออก อีก 6% ติดต่อไม่ได้ ลั่นไม่ห่วง NPLs
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป ลูกหนี้ที่ได้รับการพักหนี้ตามพ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 ที่วงเงินกู้ไม่ถึง 100 ล้านบาท จะครบกำหนด 6 เดือน ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ จะไม่ได้รับการต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไป โดยธปท. ได้ปรับมาตรการช่วยเหลือเชิงรุก และตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย
สาเหตุที่ไม่ต่อมาตรการ เพราะอาจส่งผลกระทบระยะยาว การพักดอกเบี้ยสร้างภาระในระยะยาว ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน คาดว่าจะทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไปประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นกลุ่มลูกหนี้ที่ยังมีรายได้เพียงพอ ควรชำระหนี้ตามปกติ แต่หากยังไม่มีความสามารถ โดยเฉพาะรายที่สถาบันการเงินยังติดต่อไม่ได้ ควรรีบติดต่อ เพื่อไม่ให้หนี้เสียและรับความช่วยเหลือที่เหมาะสมภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563
นางรุ่งกล่าวว่า ลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือทั้งหมด คิดเป็น 6.89 ล้านล้านบาท อยู่ในมาตรการพักหนี้ของลูกหนี้เอสเอ็มอี ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แสนล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้ 7.8 แสนบัญชี ในระบบธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ 9.5 แสนล้านบาท จำนวน 2.7 แสนบัญชี ในส่วนนี้มีลูกหนี้ประมาณ 94% ที่กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ และสถาบันการเงินดำเนินการช่วยเหลือด้วยวิธีต่าง ๆ ต่ออีก สวนที่เหลืออีก 6% ของยอดหนี้ หรือประมาณ 5.7 หมื่นราย ยังติดต่อไม่ได้
สำหรับมาตรการรองรับการช่วยเหลือหลังหมดมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไป กรณีลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัว สถาบันการเงินจะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ คงสถานะลูกหนี้ที่ไม่เป็นหนี้เสีย (NPLs) ระหว่างการเจรจาจนถึงสิ้นปี 2563 ส่วนลูกหนี้ที่ยังชำระหนี้ไม่ได้ จะขยายระยะเวลาชะลอการชำระหนี้เป็นรายกรณีได้อีกไม่เกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปีนี้
นางรุ่ง กล่าวถึงแนวโน้ม NPLs ไม่น่ากังวลใจ ไม่มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วง แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ธปท. ได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 (stand still) สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อไม่ให้กลายเป็น NPL ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ และธปท. อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อต้องการทราบว่าภาคธุรกิจใดที่ต้องการรับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ