HoonSmart.com>> “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มอง “ช้อปดีมีคืน’ เอื้อประโยชน์ผู้บริโภครายได้มากกว่า 5 แสนบาทต่อปี หรือ 4.2 หมื่นบาทต่อเดือน หลังสำรวจพบรายได้ต่ำกว่านี้กังวลกำลังซื้อในอนาคต ไม่จำเป็นต้องนำมาลดหย่อนภาษีเพิ่ม ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายส่งท้ายปี 63 หนุนยอดขายร้านอาหารและสินค้าไอทีเพิ่มขึ้น คาดแรงส่งมาตรการ ช้อปดีมีคืน’ และ ‘คนละครึ่ง’ หนุนยอดค้าปลีกปี 63 หดตัวเหลือ 6% จากเดิมคาดหดตัว 7.2%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ น่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคที่มีรายได้มากกว่า 500,000 บาทต่อปีขึ้นไป หรือรายได้ประมาณ 42,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมพบว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้สนใจที่จะใช้สิทธิจากมาตรการฯ ดังกล่าว มากกว่าร้อยละ 70.0 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ขณะที่ ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยกว่า 500,000 บาทต่อปี ส่วนใหญ่ยังคงกังวลกำลังซื้อในอนาคต และโดยปกติก็เสียภาษีในอัตราที่ไม่สูงมาก จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเพิ่ม
จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ เป็นโอกาสให้กับบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ซึ่งรวมถึงร้านค้าและร้านอาหารที่เช่าพื้นที่อยู่ภายในห้างสรรพสินค้า (ที่จดทะเบียนอยู่ในระบบและสามารถออกใบกำกับภาษีได้) รวมถึง E-market place และซูเปอร์มาร์เก็ต ที่น่าจะมีโอกาสเพิ่มยอดขายมากขึ้น โดยสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคน่าจะซื้อเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้แก่ การรับประทานอาหารในร้านอาหาร อุปกรณ์ไอที เช่น Smart phone, Smart watch และของใช้จำเป็นส่วนบุคคล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แรงส่งของมาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ และ ‘คนละครึ่ง’ น่าจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายได้ในระดับหนึ่ง และทำให้ยอดค้าปลีกในภาพรวมปี 2563 หดตัวลดลงเหลือ 6.0% เมื่อเทียบกับหากไม่มีมาตรการฯ ที่คาดว่าจะหดตัวราว 7.2% YoY) ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกควรเตรียมพร้อมทั้งในเรื่องของสต็อกสินค้า การอำนวยความสะดวกในเรื่องของใบกำกับภาษี
นอกจากนี้ ด้วยข้อจำกัดทางด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่ม รวมถึงผู้บริโภคที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แต่ยังไม่ได้มีการวางแผนการใช้จ่าย ผู้ประกอบการค้าปลีกก็อาจจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดควบคู่ไปกับมาตรการดังกล่าว เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในกลุ่มสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคให้ความสนใจซื้อ เช่น ร้านอาหารต่างๆ อุปกรณ์ไอที ของใช้จำเป็นส่วนบุคคล เป็นต้น เพื่อนำมาใช้สิทธิในการลดภาษี โดยรูปแบบของการทำการตลาดก็ยังคงให้ความสำคัญกับการลดราคาสินค้า การชูความคุ้มค่าคุ้มราคา และการผ่อนชำระ 0% ที่นานขึ้น เพื่อจูงใจกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แต่อาจมีฐานรายได้ไม่สูงนัก