FINNOMENA จัดงาน FINNOMENA UNLOCK DAY ครั้งที่ 3 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา ภายใต้ตรีม “สิ่งที่นักลงทุนปี 90 อยากบอกคุณ” โดยได้รับเกียรติจาก “วรวรรณ ธาราภูมิ”ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง และ “กรณ์ จาติกวณิช” ประธานสมาคมไทย Fintech มาถ่ายทอดประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤตต้มยำกุ้งของไทย และวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงนานาประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะลุกลามมากขนาดไหน
ทั้งนี้ หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่จากสงครามการค้า ทั้ง “วรวรรณ” และ “กรณ์” กลับมองเป็นโอกาส แต่นักลงทุนจะสามารถไขว่คว้าโอกาสได้มากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการมองเห็นและความพร้อมของแต่ละคน
“วรวรรณ” แนะนำกลยุทธ์ ว่า นักลงทุนจะต้องมีเงินสด และจะต้องรู้ว่าเงินนั้นจะอยู่ยาวได้แค่ไหน สามารถรับความเสี่ยงได้เท่าไร ที่สำคัญการลงทุนจะต้องมีการกระจายความเสี่ยง กระจายพอร์ตให้เหมาะสมกับความต้องการของนักลงทุน
” การรู้ก่อนคนอื่น การมองเห็นข้างหน้า รวมถึงกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ จะสร้างโอกาสที่ดี ในส่วนของมนุษย์เงินเดือน ควรตัดเงินเดือนมาลงทุนทุกเดือน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับครอบครัวไทย” วรวรรณกล่าว
“กรณ์” แนะนำว่า สงครามการค้าอาจจะมีวิกฤตเกิดขึ้นได้ แต่ละวิกฤตมีความคล้ายกันกับความต่างกัน เพราะฉะนั้นนักลงทุนจะต้องเตรียมตัว จะต้องมีเงินสดให้พร้อม และมองว่าเรื่องการจัดกระแสหลักให้ถูกเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อฉวยโอกาสที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยไปสู่สังคมสูงอายุ ทำให้กำลังซื้อไม่โต ตอนนี้กำลังซื้อมาจากต่างประเทศ เพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา เวียดนาม ลาว จีน อินเดีย ซึ่งนิยมสินค้าไทย เนื่องจากรสนิยมใกล้เคียงกับไทย และมองสินค้าไทยมีพรีเมียม ต้องจับกระแสหลักให้ได้ว่าต่างประเทศต้องการซื้อสินค้าอะไรบ้าง ต้องเลือกบริษัทสำหรับการลงทุนให้ถูกต้อง รวมถึงเทคโนโลยีกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงกับทุกอย่าง จะสร้างโอกาสให้กับนักลงทุน
กรณ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์จับกระแสหลักให้ถูกสามารถทำเงินได้มาก กับการตัดสินใจครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้ง
ครั้งแรก ก่อนปี 2540 อังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้จีน คนจีนอพยพไปแคนาดามาก ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงตกต่ำมาก ก็ไปลงทุนซื้ออพาร์ทเม้นท์กับเพื่อนฮ่องกง ครั้งที่ 2 วิกฤตต้มยำกุ้ง สามารถซื้อหุ้นได้ราคาถูก และวิฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซื้ออพาร์ทเม้นท์ที่ลอนดอน
กรณ์ เล่าให้ฟังว่า การจับกระแสหลักครั้งสำคัญ มีผลต่อตัวเองมาก เริ่มตั้งแต่การตัดสินใจเลือกอาชีพเข้ามาในตลาดทุน เพราะมองเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมต้องการใช้เงินทุนจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อปี 2529-2530 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเกษตรเป็นอุตสาหกรรม นโยบายรัฐบาลมีการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ และญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ทำให้ปี 2530 เป็นปีแรกที่จีดีพีของอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรม
ส่วนอีกกระแสหลักเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ตอนนั้น บล. เจเอฟธนาคม ออกบทวิเคราะห์มาเตือนในปี 2538 หรือล่วงหน้า 2 ปีก่อนเกิดต้มยำกุ้ง เรื่องระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะล่มสลาย คาดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของระบบน่าจะอยู่ที่ 15% จากตอนนั้นมีเพียง 3-4% เท่านั้น รวมถึงการเตือนเรื่องบริษัทจดทะเบียนมีการลงทุนมากเกินไป และได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มค่า เพราะได้เงินกู้มาดอกเบี้ยถูก บางบริษัทนำเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปหาผลตอบแทนส่วนต่างดอกเบี้ยในระบบ
นอกจากนั้นบล.เจเอฟฯเป็นโบรกเกอร์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 10% แต่ปล่อยสินเชื่อซื้อหุ้น(มาร์จิ้น)ไม่ถึง 1% ขณะที่ระบบมีมาร์จิ้นสูงมาก 1.2 แสนล้านบาท ตั้งคำถามกับตัวเองว่า มาร์จิ้นไปอยู่ที่ใคร พบว่าปล่อยให้กับเจ้าของบริษัทจดทะเบียน เพื่อพยุงราคาหุ้น แล้วนำหุ้นนั้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ภายใต้สถานการณ์นี้ เป็นเรื่องของเวลาเท่านั้น ที่ฟองสบู่ใกล้แตก โบรกเกอร์ต้องบังคับให้ลูกค้าขายหุ้น แต่บล.เจเอฟธนาคม ได้บังคับลูกค้าขายหุ้นออกมาก่อน ทำให้บริษัทเสียมาร์เก็ตติ้งไปหลายคน และที่สำคัญ ส่วนตัวได้ขายหุ้นบล.เจเอฟธนาคมให้กับธนาคารเชสแมนฮัตตันไปก่อนวิกฤตด้วย
“สาเหตุที่เรารอดจากวิกฤตปี 2540 เกิดจากการมองเห็นปัญหาก่อนคนอื่น ทำไมถึงมองเห็น คำตอบคือ เพราะบริษัทเราร่วมทุนต่างประเทศ เริ่มให้เค้าส่งคนมาเป็น CFO ซึ่งคนต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องวินัย ไม่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ การวิเคราะห์มาจากตัวเลข ข้อมูล ตอนนั้นเรามีเครดิตไลน์ จากบง.เอกธนกิจเท่านั้น ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องมีเครดิตไลนด์กับสถาบันการเงินแห่งอื่น ถ้าเป็นคนอื่นไม่กล้าพูด ทำให้เราเปิดเครดิตไลน์มากขึ้น นี่คือ 1 ในหลายตัวอย่างที่ทำให้เราแตกต่างจากบริษัทหลักทรัพย์อื่น รวมถึงการรอดพ้นจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ด้วย ที่ไม่ขาย COD ในเมืองไทย” กรณ์กล่าว
สำหรับพอร์ตการลงทุนส่วนตัว กรณ์เล่าว่า เคยถือหุ้นเต็มพอร์ต แต่ตอนนี้ไม่แล้ว เพราะมีความกังวลว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะมาจากไหน ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาชะลอตัวลงอย่างชัดเจน รัฐบาลจึงต้องหายุทธศาสตร์ใหม่ ประกาศนโยบาย 4.0 แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ดังนั้นนักลงทุนต่างชาติจะกลับมาด้วยเหตุผลใด ในอดีตตลาดหุ้นไทยมีน้ำหนักในดัชนี MSCI ไม่รวมญี่ปุ่นถึง 15% แต่ตอนนี้มีไม่ถึง 1.5% เนื่องจากมีจีนและอินเดียเข้ามามีน้ำหนักมากขึ้น
“ตลาดหุ้นไทยมีความสำคัญน้อยลง หากไม่ดีจริง เงินต่างประเทศจะไม่เข้ามา ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่านักลงทุนจะเข้ามาด้วยเหตุผลใด”
กูรูทั้งสองคน “วรวรรณ” และ”กรณ์” มาแนะกลยุทธ์การหาโอกาส และเตือนให้เราเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดก่อนเกิดวิกฤต เมื่อถึงเวลานั้น จะสามารถหาผลตอบแทนที่สูงมากได้อย่าไปกลัว อย่าตื่นตระหนกกับสงครามการค้าโลกมากจนเกินไป มิเช่นนั้นอาจจะพลาดโอกาสทองของรอบนี้!!!