‘เสี่ยยักษ์-ตั้งคารวคุณ-จุฬางกูร’ รวยเละ ขาใหญ่ เล่นบทพระเอกหรือตัวร้าย IPO

HoonSmart.com>>ในปี 63 หุ้น IPO แสดงอภินิหาร นักลงทุนรวย! ฟาดกำไรวันแรกตั้ง 100% ถึง 200% ส่วนนักลงทุนที่กระโจนเข้าไปรับของ ก็บาดเจ็บหนักกันถ้วนหน้าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะนักลงทุนรายใหญ่ไล่แล้วทุบ เปลี่ยนมาเล่นบทโหด ขอเตือนรายย่อยอย่าโลภ ระวังตกเป็นเหยื่อ…

จากการตรวจสอบข้อมูลผลของการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานก.ล.ต. ในปีนี้มีหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดแล้ว 11 บริษัท แต่มีการรายงานผลการจัดสรรเพียง 5 บริษัท หุ้นฮอตฮิต นำโดย บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT ขายให้นักลงทุนธรรมดา เพียง 194 ราย แต่คิดเป็นสัดส่วน 44.37% ของหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด โดยมีเสี่ยยักษ์ “วิชัย วชิรพงศ์ “ได้รับการจัดสรรมากที่สุด 22 ล้านหุ้น สัดส่วน 5.06% ยังไม่รวม “กชกร วชิรพงศ์” จองซื้ออีก 3 ล้านหุ้น

นอกจากนี้กลุ่ม”ตั้งคารวคุณ” มี ชวิน-คเณศและประวิทย์ ได้หุ้น STGTไปคนละ 5.34 ล้านหุ้น 5.26 ล้านหุ้น และ 1.51 ล้านหุ้น ตามลำดับ รวม 12.11 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.76% ใช้เงินลงทุนจำนวน 411 ล้านบาท และ” อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ได้ด้วย 4.01 ล้านหุ้นหรือ 0.91% ใช้เงินลงทุน 136 ล้านบาท

ส่วนหุ้นบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SICT) กระจายให้กับนักลงทุนบุคคลถึง 1,124 ราย ซึ่งแต่ละรายได้ไม่มากนัก โดย “ทวีฉัตร จุฬางกูร” รับมากที่สุด  1.31 ล้านหุ้น แค่ 1.31% หากรวมหุ้นของ หทัยรัตน์-สรรเสริญ และณัฐพล จุฬางกูร อีกคนละประมาณ 0.56 ล้านหุ้น กลุ่มนี้ได้รับการจัดสรรหุ้นทั้งหมด 2.97 ล้านหุ้น เพราะบล.ไอร่า ของกลุ่มจุฬางกูร เป็นผู้ขายหุ้นได้มากที่สุด 84 ล้านหุ้น ส่วนผู้จัดจำหน่ายหุ้นรายอื่น ขายเพียง 5 ล้านหุ้น/ราย

สำหรับหุ้นน้องใหม่รายอื่นๆ ก็จัดสรรให้นักลงทุนแต่ละคนไม่มากนัก  อาทิ บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป (IIG)  อันดับหนึ่ง นายสุทธิ มุ่งดี ได้เพียง 0.268  หุ้นหรือ 1.07%  แต่ในส่วนสถาบัน บริษัท วิริยะประกันภัย ได้มากถึง 5 ล้านหุ้น สัดส่วน  20% และบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ที่มีคนในกลุ่มจิราธิวัฒน์ และเกี่ยวข้องหลายคนได้รับการจัดสรร คนละเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเกิดจากการแลกหุ้นกับบริษัทห้างโรบินสัน(ROBINS)

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ยังไม่เปิดเผยการจัดสรรหุ้นอย่างเป็นทางการ แต่พบว่ารายใหญ่ได้หุ้นจองไปมาก อาทิ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) นาย สิปปกร ขาวสอาด หรือเสี่ยหนุ่ย แจ้งถือหุ้นใหญ่จากการได้ IPO จำนวน 23 ล้านหุ้นหรือ 1.03% เสี่ยยักษ์ วิชัย วชิรพงศ์ ถือ 18 ล้านหุ้นหรือ 0.80% นลินี แจ่มวุฒิปรีชา หรือเจ๊สีฟ้า ถือ 10 ล้านหุ้น 0.46% และหุ้นบริษัทศิรกร (SK) มีนายยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม  หรือหมอยง ซื้อ 5 ล้านหุ้น เข้าตลาดวันที่ 8 ต.ค. เปิด 1.60 บาท ไล่ขึ้นถึง 2 บาท แต่ถึงวันนี้เหลือ 1.02  บาท

หุ้นที่เพิ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ล่าสุด บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) ก็มีเจ้าพ่อหุ้น IPO ได้รับจัดสรรไม่น้อย  จึงไม่แปลกใจที่ราคาเปิดกระโดด 9.05 บาท ก่อนไล่ขึ้นไปสูงสุด 9.20 บาท และตบราคาลงมาปิดที่ 6.05 บาท +1.45 บาทหรือ+31.52% เทียบ IPO  ที่ 4.60 บาท โดยจุดพลุเรื่องพื้นฐานดี เทียบ บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) ที่ประสบความสำเร็จ ในการเข้าตลาด จาก IPO เพียง 3.30 บาท ไล่ราคาขึ้นไปทะลุ 10 บาท

” หุ้นที่นักลงทุนรายใหญ่จองซื้อจำนวนมาก ฟลอร์มตก ราคาเปิดสวยงาม แต่ก็มีการแย่งกันขาย  รีบโกยกำไร ดังนั้นการมีขาใหญ่ถือหุ้น เปรียบเสมือนดาบสองคม หากตัดสินใจขายเมื่อไร เละทุกที เพราะต้นทุนที่ได้  IPO ขายราคาไหนก็ได้กำไร”

สำหรับหุ้นฮอตอีกตัว บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เคาะราคา IPO สูงสุดที่  35.00 บาท ระดับ P/E 23.62 เท่า  คาดว่าจะเข้าซื้อขายใน SET วันที่  22 ต.ค. 2563 เป็นหุ้นใหญ่ ราคาน่าจะขึ้นไม่แรง แต่ก็ลงไม่มาก เพราะหุ้นส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือสถาบัน แบ่งเป็นที่เป็น Cornerstone Investors ในประเทศไทย จำนวน 600ล่านหุ้น หรือ 53.20% และต่างประเทศ จำนวน 76.53 ล้านหุ้น เท่ากับ 6.80%

หุ้นที่ราคากระโดดขึ้นแรง 1-2 เท่าในวันแรก เริ่มมีคำถามว่า สาเหตุเกิดจากการตั้งราคาขายผิดหรือไม่

“วีณา เลิศนิมิตร” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวาณิชย์ธนกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน NRF เปิดเผยว่า ในช่วงที่ตลาดหุ้นยังแกว่งตัวผันผวน ตามปัจจัยต่างๆ หุ้น IPO เหมือนจะเป็นทางเลือกที่มีความน่าสนใจมากกว่า ทำให้ราคาเปิดตัวสูงขึ้นในวันแรก

“การกำหนดราคาขายหุ้น เราพิจารณาจากความเหมาะสมของปัจจัยพื้นฐาน  และราคาต้องมีความเหมาะสมจริงๆ ไม่ถูกเกินไปและแพงเกินไป เราให้ส่วนลดหรือ Discount จากราคาที่ตั้งไว้ตอนสำรวจความต้องการหรือ Book Building แล้ว และเรามีการจัดสรรหุ้นในสัดส่วนที่เหมาะสม ทั้งแก่นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบันต่างๆ” วีณาให้ความเห็น

“วรชาติ ทวยเจริญ “กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ ที่ปรึกษาทางการเงิน SICT เปิดเผยว่า หุ้น IPO ปี 63 ขึ้นแรงมองว่าจะเป็นหุ้นที่ได้รับอานิสงส์ จากกระแสการลงทุน นักลงทุนให้ความสนใจมาก ในช่วงที่ตลาด ดูจะทรงตัว หุ้น IPO มีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นได้ดีกว่าหุ้นที่อยู่ในตลาดหุ้น รวมถึง P/Eอยู่ในระดับที่ต่ำด้วย

ส่วนการกำหนดราคาก็ต้องพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานและความเหมาะสมเช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะมีการลดราคาลงจากราคาที่ตั้งไว้ตอนแรก เพื่อให้นักลงทุนเกิดความสนใจที่ลงทุน แต่ทั้งนี้บริษัทต้องมีการเติบโตที่ดีด้วย เพราะราคาหุ้นในท้ายที่สุดจะสะท้อนปรับฐานให้เกิดความเหมาะสม

“วิศรุต อังศุภากร” ผู้อำนวยการสายงานวาณิชธนกิจ บล.โนมูระ พัฒนสิน ที่ปรึกษาทางการเงิน IIG  เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนเริ่มกลับมาสนใจหุ้น IPO หลังจาก  STGT เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และส่งผลไปยังหุ้น IPO ที่เข้าต่อกันมา ปรับตัวขึ้นสูงในวันแรก  ช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน จากผลกระทบโควิด-19 หุ้นที่เข้าซื้อขาย ต้องสะท้อนถึงการเติบโตที่ดี และผลการดำเนินงานต้องดีด้วย

การกำหนดราคาขายหุ้น ของบล.โนมูระฯ กำหนดตามปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ซึ่งต้องมีความเหมาะสมกับสภาวะตลาดหุ้น และปัจจัยต่างๆที่จะเข้ามากระทบในช่วงนั้นๆ โดยการจัดสรรหุ้นแก่นัลงทุนทั้งสถาบันการเงิน รายใหญ่ หรือรายย่อย ได้พิจารณาตามความเหมาะสมอยู่ตลอด ไม่มีใครได้ประโยชน์ไปมากเกินไป

“ปิ่นมณี เมฆมัณฑนา” กรรมการผู้จัดการอาวุโส บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น (KK) เปิดเผยว่า หุ้นที่เปิดด้วยราคาเพิ่มขึ้นสูงมาก ต้องมาจากปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละบริษัท  ส่วนการกำหนดราคาตามปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสม และการเติบโตของบริษัทในอนาคต รวมถึงนักลงทุนหันมาให้ความสนใจหุ้น IPO มากกว่าหุ้นเดิมในตลาดด้วย ขณะที่การจัดสรรหุ้นก็อยู่ในการพิจารณาความเหมาะสม