BCPG เพิ่มทุนต่อยอดกำไร หนุนการเงินแกร่ง-อนาคตโตดี

HoonSmart.com>>BCPG เพิ่มทุน ช่วยเติมโครงการใหม่  ต่อยอดกำไร ลดภาระเงินกู้ หนุนการเงินแกร่ง เติบโตสูง โบรกเกอร์ประสานเสียงเชียร์ “ซื้อ ” ให้ราคาเป้าหมาย 15-17.30  บาท

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ทั่วโลกเช่นนี้ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทยไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็ก ต้องเร่งปรับตัวในทุก ๆ ด้าน ทั้งการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ การปรับโครงสร้างองค์กร รวมถึงการเพิ่มความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อม และสามารถรับมือกับทุก ๆ สถานการณ์ที่คาดไม่ถึง

เช่นเดียวกับ บริษัท บีซีพีจี  (BCPG)  ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงลงทุน ในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 862 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการแล้ว 472 เมกะวัตต์ และอีก 390 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งโรงไฟฟ้าตั้งอยู่บริเวณครอบคลุมพื้นที่ 5 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สปป.ลาว และฟิลิปปินส์

เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของ BCPG คือ การก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้น การสร้างฐานทุนให้มีความแข็งแกร่ง และบรรลุเป้าหมาย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่เร่งดำเนินการ

การระดมทุน โดยเลือกแนวทางการเพิ่มทุน จึงเกิดขึ้น ซึ่งแผนการระดมทุนในครั้งนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี  สามารถเพิ่มกระแสเงินสดได้ทันที และสามารถนำมาต่อยอดธุรกิจ เพิ่มศักยภาพการทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับ BCPG อยู่ระหว่างเตรียมเพิ่มทุนจดทะเบียน จาก 10,000 หมื่นล้านบาท เป็น 16,508.50 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 1,301.70 ล้านหุ้น มูลค่าตราไว้หุ้นละ 5 บาท

แบ่งจัดสรรจำนวน  250 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม  (RO)  สัดส่วน  8 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุน ราคาเสนอขาย 11.50 บาท ขึ้นเครื่องหมายไม่ได้รับสิทธิเพิ่มทุน (XR) ในวันที่ 14 ต.ค.นี้

นอกจากนี้ หุ้นเพิ่มทุน 674.5 ล้านหุ้น เสนอขายบุคคลในวงจำกัด (PP)  ได้แก่ Pilgrim Partners Asia (Pte.) Ltd. จำนวน 195.75 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.93% ของทุนชำระแล้ว และ Capital Asia Investments Pte. Ltd. จำนวน 195.75 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.93% ในราคาหุ้นละ 11.50 บาท

รวมทั้งจัดสรร 283 ล้านหุ้น  เสนอขายให้กลุ่ม PP  กำหนดราคาเสนอขายโดยการสำรวจราคา และความต้องการของสถาบัน

ที่เหลืออีก  377.2 ล้านหุ้น  รองรับการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์)  ทั้ง 4 รุ่น คือ BCPG-W1 ,BCPG-W2, BCPG-W3 และ BCPG-ESOP

บริษัทฯ จะแจก BCPG-W1  ให้ผู้ถือหุ้นเดิม ที่ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในอัตราส่วน 2.80 หุ้นเพิ่มทุน ต่อ 1 วอร์แรนต์ ราคาแปลงสิทธิ 8 บาท อายุ 2 ปี อัตราใช้สิทธิ 1 ต่อ 1

ส่วน BCPG-W2 จะแจกให้ผู้ถือหุ้นเดิม อัตรา 2.80 หุ้นเพิ่มทุน ต่อ 1 วอร์แรนต์ ราคาแปลงสภาพ 8 บาท อายุ 3 ปี อัตราใช้สิทธิ 1 ต่อ 1

BCPG-W3  แจกให้กับผู้ถือหุ้นเพิ่มทุน PP ในอัตรา 2.1924 หุ้นเพิ่มทุน ต่อ 1 วอร์แรนต์ ราคาแปลงสิทธิ 8 บาท อายุ 1 ปี อัตราใช้สิทธิ 1 ต่อ 1 รวมทั้ง บริษัท ฯ จะแจก BCPG-ESOP ให้กับกรรมการและพนักงาน ราคาใช้สิทธิเริ่มต้นที่ 13.70 บาท อายุ 5 ปี อัตราใช้สิทธิ 1 ต่อ 1

“บัณฑิต สะเพียรชัย” กรรมการผู้จัดการใหญ่  BCPG กล่าวว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้ คาดว่าจะได้รับเงินราว 10,235 ล้านบาท เสริมสร้างความแข็งแกร่ง ความมั่นคงให้แก่ฐานะทางการเงิน ทำให้มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน ( D/E ) ลดลง และช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้น  ช่วยให้บริษัทขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่อง และชำระคืนหนี้บางส่วนแก่สถาบันการเงินตามแผนที่วางไว้ ส่งผลให้การดำเนินงาน BCPG มีแนวโน้มการเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนแผนการใช้เงินเพิ่มทุนได้วางไว้อย่างชัดเจน ประกอบด้วย การนำไปใช้การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ (MW) ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประมาณ 3,570 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาการใช้เงินในปี 2563-2566

นำไปชำระคืนเงินกู้ สำหรับการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 เมกะวัตต์ ในประเทศไทย รวมถึงนำเงินไปลงทุน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และซ่อมบำรุงโครงการต่าง ๆ ประมาณ 1,210 ล้านบาท ในช่วงปี 2563-2565

นอกจากนี้ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วน ในการซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B กำลังการผลิตรวม 114 เมกะวัตต์ รวมถึงการนำเงินไปลงทุนสำหรับการติดตั้งสายส่งเพิ่มเติม ประมาณ 1,870 ล้านบาท ภายในปี 2563 ส่วนที่เหลืออีก 3,700 ล้านบาท จะนำไปใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าทั้งใน และต่างประเทศภายในปี 2563-2564

เมื่อสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กรณีการเพิ่มทุนของ BCPG  ครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่มีมุมมองที่สอดคล้องกันในทิศทางที่ดี โดยเชื่อว่า ช่วยเพิ่มกระแสเงินสดมากขึ้น และเพียงพอรองรับการขยายกิจการในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ใหม่เข้ามา ช่วยเพิ่มมูลค่ากิจการได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่สำคัญ ช่วยผลักดันการเติบโตให้บรรลุเป้าหมายการก้าวสู่ผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ตามแผนที่วางไว้

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า การระดมทุนของ BCPG จะหนุนการเติบโต ทำให้มีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นทันที อีกราว 7.3 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มความสามารถในการกู้เงินเพิ่ม ได้อีกกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ได้ตั้งเป้า D/E ในระยะยาวที่ 1.5เท่า และไม่เกิน 2.0 เท่า

แม้การเพิ่มทุนจะเกิดผลกระทบต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น แต่จะมีรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Nam San 3A และ 3B รวมขนาด 114 MW โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศไทย จำนวน 4 โครงการ รวมขนาด 20 MW ตลอดจนการปรับขึ้นค่าไฟของโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ฟิลิปปินส์ ขนาด 36 MW เพิ่มขึ้นมาราว 16%

นอกจากนี้ บริษัทอาจมีการบันทึกกำไรพิเศษ อีกราว 75 ล้านบาท เพื่อเป็นการชดเชยค่าเสียโอกาส จากการที่โรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่ฟิลิปปินส์ ไม่มีปรับขึ้นค่าไฟมาแล้ว 4 ปี (จากปกติที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกปี) และโครงการใหม่ ๆ ที่คาดว่า จะทยอยประกาศออกมาภายหลังการเพิ่มทุนเสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่ง BCPG ได้วางแผนงบลงทุนปี 2564 ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท

ฝ่ายวิจัยได้คาดการณ์กำไรปกติปี 2564 อยู่ที่ 2,224 ล้านบาท เติบโต 13 % จากปีก่อน โดยมีการรับรู้โรงไฟฟ้า Nam San 3B เต็มปี และรายได้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น รวม 3 โครงการ รวมขนาด 65 MW และมี Upside จากโรงไฟฟ้าพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย ขนาด 20 MW คาดจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/2563 และโอกาสในการขยายการลงทุนโครงการใหม่ จึงแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาหมาะสม 15.70 บาทต่อหุ้น

สอดคล้องกับ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า การเพิ่มทุนของ BCPG จะช่วยเติมกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามา โดยได้ตั้งงบลงทุนระยะยาว (CAPEX) ไว้สูงถึง 4 หมื่นล้านบาท ในปี 2543-2568 โดยหวังจะเพิ่ม EBITDA ให้ได้ปีละประมาณ15% ในช่วงที่ solar adder ในไทยจะหมดอายุลง (ในปี 2564-2567)

ฝ่ายวิจัยมองบวกกับประเด็นนี้ โดยคาดว่า Adder ที่สิ้นสุดลงจะถูกเติมโดย โครงการ Swan (พลังงานลมในลาว กำลังการผลิต 270 MW) กำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโครงการ Nam San 3A และ 3B และกำหนด COD ใหม่ของโครงการ Japan Solar ในญี่ปุ่น (75MW) และ Nabas wind (5.6MW) โดยจะทำให้กำลังการผลิตตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 471 MW เป็น 861 MW (เพิ่มขึ้น 82.8%) ในปี 2566

รวมถึง  BCPG ได้กำหนดแผนการใช้เงินเพิ่มทุนไว้แน่นอน และส่วนหนึ่งเพื่อทำ M&A ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดรวม 500 -1,000 MW คาดว่าจะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่บริษัทฯ เพิ่มทุนเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ แนะนำ “ซื้อ ” ให้ราคาเป้าหมาย 17.30 บาท  ถึงแม้ว่า EPS จะเกิดผลกระทบในระยะสั้น แต่เชื่อว่า EPS จะเพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมอีกด้วย

จากข้อมูลดังกล่าว น่าจะสรุปได้ว่า การเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะเป็นปัจจัยสนับสนุน BCPG มีความสามารถต่อยอดกำไรได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีกระแสเงินสดที่ใช้ในการลงทุนเพิ่มเติมอย่างเพียงพอ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้นทุกปี ช่วยผลักดันรายได้ และกำไรให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นทุก ๆ คน