คอลัมน์ KTAM Focus : Japan M&A

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

Mergers and Acquisitions (M&A) การควบรวมและซื้อขายกิจการในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มคึกคักต่อเนื่อง มูลค่าธุรกรรมพุ่งพรวด +63% ในไตรมาส 3 ตามสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังผ่านวิกฤตโควิด ดีลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอเชีย ก.ค.-ก.ย. มูลค่ารวมกัน $432 พันล้าน สูงสุดในรอบทศวรรษสำหรับช่วง Q3 นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าว 9 เดือนแรกของปีอยู่ที่ $844 พันล้าน +13% เติบโตโดดเด่น สวนทางกับทั่วโลกซึ่งหดตัวแรง -20%

นักวิเคราะห์ชี้…ยังมีอีกเยอะ! เศรษฐกิจเริ่มฟื้น กระตุ้นให้บรรดาบริษัทต่างๆเดินหน้าควบรวมและซื้อกิจการกันมากขึ้น เพื่อหาทางสร้างหรือขยายสเกลธุรกิจ ทั้งในประเทศและข้ามไปยังต่างประเทศ


บริษัทญี่ปุ่นจุดพลุเปิดศักราช M&A บูมรอบนี้ อาทิ 2 ดีลใหญ่ไซส์พอๆกันประมาณ $4 หมื่นล้าน SoftBank Group จะขายบริษัทออกแบบชิพชั้นนำสัญชาติอังกฤษ ARM ให้แก่ยักษ์อเมริกัน Nvidia ขณะ Nippon Telegraph and Telephone (NTT) เพิ่งประกาศ “buyout” เตรียมนำบริษัทลูกผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือ NTT Docomo ออกนอกตลาด ข่าวดังกล่าวดันราคาหุ้นลูกวิ่ง +40% ใน 2 วันทำการ

Parent-Child Listings บริษัทแม่-ลูก จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ทั้งคู่ อย่างกรณีของ NTT และ NTT Docomo ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งล่าสุดนั้น เป็นสิ่งที่โลกพัฒนาแล้วไม่ค่อยทำกัน แต่ญี่ปุ่นยังคงมีอยู่มาก

ความพยายามพัฒนาธรรมาภิบาล (corporate governance) เพิ่มความโปร่งใสในโครงสร้างผู้ถือหุ้น ให้สอดคล้องกับความต้องการที่สูงขึ้นเรื่อยๆของบรรดานักลงทุนสถาบัน จึงเป็นอีกปัจจัยซึ่งมีส่วนขับเคลื่อนบริษัทญี่ปุ่น ให้เข้าสู่คลื่นระลอกใหม่ของกิจกรรม M&A ทั้งในแนวทาง “consolidation” (buyout) นำหุ้นลูกออกจากตลาด และ “sales” ขายบางธุรกิจทิ้ง เปลี่ยนเป็นเงินสดไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ทั้งนี้ ประกาศสำคัญๆเกี่ยวกับ M&A ในญี่ปุ่น มักมาพร้อมกับฤดูเผยผลประกอบการ (earnings season) ช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. (แหล่งข้อมูล Bloomberg, Reuters)

ญี่ปุ่นเพิ่งได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ “โยชิฮิเดะ ซูงะ” อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งชาวญี่ปุ่นคุ้นหน้าคุ้นตาอยู่แล้ว เพราะเขาเคยนำทีมโฆษกรัฐบาลแถลงข่าววันละ 2 ครั้ง ในฐานะคนสนิทของ ชินโซ อาเบะ ที่ลาออกไปเมื่อเดือน ก.ย. ด้วยปัญหาสุขภาพ หลังดำรงตำแหน่งนายกฯยาวนานเกือบ 8 ปี รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของซูงะ จึงน่าจะสานต่อนโยบายผ่อนคลายทั้งการเงินและการคลัง ตลอดจนการปฏิรูปด้านต่างๆต่อไป

กองทุนเปิดเคแทม เจแปน อิควิตี้ ฟันด์ (KT-JAPAN) เน้นลงทุนในหน่วยของ Janus Henderson Horizon Japanese Smaller Companies Fund – Class A2 (กองทุนหลัก) มุ่งแสวงหาการเติบโตระยะยาวจากหุ้นญี่ปุ่นขนาดเล็ก (small cap) ซึ่งเราเชื่อว่า ปัจจัยจุลภาค (micro factors) ของหุ้นรายตัว มักมีอิทธิพลเหนือกว่า ปัจจัยมหภาคระดับโลก (global macro factors) ดังนั้น KT-JAPAN จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการรับโอกาสใน earnings season ท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกประเทศ ช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งปธน.สหรัฐ

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน