กองหุ้นไทยยิ่งเสี่ยง ผลตอบแทนยิ่งสูง?

โดย…มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)
https://www.morningstarthailand.com/th/

ในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้นักลงทุนอาจต้องการกองทุนที่จะสามารถฟื้นตัวได้หลังจากที่ผ่านช่วงเดือนมีนาคมที่ดัชนีอยู่ในระดับต่ำ

จากการวิเคราะห์ของมอร์นิ่งสตาร์โดยใช้กลุ่ม Equity Large-Cap เป็นตัวอย่าง พบว่ากองทุนที่ฟื้นตัวตามตลาดได้ดีจะมีลักษณะที่คล้ายกันคือมี Morningstar Risk Rating อยู่ในระดับสูง (High) ซึ่ง Morningstar Risk นี้เป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณเรตติ้งดาวที่นักลงทุนคุ้นเคย โดยเป็นการบอกถึงความเสี่ยงเชิงลบของกองทุนว่ามากน้อยเพียงใด

Up Capture Return เป็นค่าที่บอกว่ากองทุนมีการปรับตัวขึ้นได้มากน้อยเพียงใดในช่วงตลาดฟื้นตัว ซึ่งถ้าเรานำมาเทียบกับดัชนีอ้างอิงแล้วก็จะได้ออกมาเป็น Up Capture Ratio โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม พบว่ากองทุนที่มี Morningstar Risk Rating ในระดับสูง (High) มีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนสูงกว่า และมีค่า Up Capture Ratio ในระดับสูงเช่นกัน ในทางกลับกันกองทุนที่มี Morningstar Risk Rating ในระดับต่ำ (Low) มีแนวโน้มที่จะมีค่า Up Capture Ratio ที่ต่ำกว่ากองทุนอื่นที่ลงทุนลักษณะเดียวกัน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง มีแนวโน้มที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่านั่นเอง

ค่า Up Capture Ratio นี้เป็นการเปรียบเทียบผลตอบแทนกองทุนกับดัชนีอ้างอิงในช่วงตลาดฟื้นตัว ยกตัวอย่างเช่น หากกองทุนหุ้นไทยมีค่า Upside Capture Ratio ที่ 110 หมายความว่ากองทุนนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนที่ 110% ของดัชนี SET TR)

ในทางกลับกัน Down capture เป็นค่าที่บอกว่ากองทุนมี downside มากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับ index ในช่วงที่มีการปรับตัวลง ซึ่งผลที่ได้นั้นแสดงไปในลักษณะเดียวกันคือ กองทุนที่มีความเสี่ยงสูงมีแนวโน้มที่จะมี Down Capture Ratio สูงกว่ากองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า หากดูข้อมูล Up Capture Ratio ควบคู่กับ Down Capture Ratio ในกราฟด้านล่างนี้จะเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ค่านี้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าหากกองทุนสามารถปรับตัวขึ้นได้ดีตามตลาด ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวลงได้มากกว่าในช่วงตลาดขาลง ซึ่งเป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่มากกว่านั่นเอง

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนชึ้น ข้อมูลด้านล่างเป็นการแสดงการเปรียบเทียบผลตอบแทนแบ่งตามระดับความเสี่ยง โดยกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงจะมี Up Capture Ratio ในช่วงตลาดปรับขึ้นโดยเฉลี่ยที่ 105.4 ในขณะที่กองทุนความเสี่ยงต่ำอยู่ที่ 64.6 หากเป็นช่วงตลาดปรับตัวลง กองทุนเสี่ยงสูงจะมี Average Down Capture Ratio ที่ 98.5 หรือติดลบใกล้เคียงกับตลาด ในขณะที่กลุ่มกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low) มีค่าอยู่ที่ 79.07 หรือหมายความว่าติดลบน้อยกว่า

จากข้อมูลทั้งหมดนี้อาจพอช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพว่ากองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงอาจเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนอื่น และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงผลตอบแทนหดตัวมากกว่ากองทุนอื่นในช่วงที่ตลาดไม่สดใส จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนควรให้น้ำหนักกับการพิจารณาความเสี่ยงการลงทุน เพราะถ้าหากเลือกการลงทุนที่ไม่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดและกระทบกับผลตอบแทนพอร์ตการลงทุนในระยะยาวได้ค่ะ