CMAN เปิดเทรดพุ่ง 27%-ลุยเพิ่มกำลังผลิตอีกเท่าตัวใน3ปี

CMAN เปิดเทรดพุ่ง 27% ผู้บริหารมั่นใจหุ้นน่าลงทุนระยะยาว คาดปีนี้รายได้โต 15% เดินหน้าสร้างโรงงานขยายกำลังผลิตเป็น 2 ล้านตันใน 2-3 ปีข้างหน้า

วันนี้ (21 มี.ค.) เป็นวันแรกที่บริษัท เคมีแมน (CMAN) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยหลังจากเปิดตลาดราคาหุ้นได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่สูงสุด 5.10 บาท ก่อนลดลงเหลือ 4.90 บาท จากราคา IPO ที่ 3.84 บาท เพิ่มขึ้น 1.04 บาท หรือเพิ่มขึ้น 27.60%

นายอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CMAN เปิดเผยว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 900 ล้านบาท โดยจะถูกนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้ 500 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 0.4-0.5 เท่า ส่วนที่เหลืออีก 400 ล้านบาท จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและลงทุนขยายโรงงานเพิ่มเติม โดยปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เติบโต 15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,198 ล้านบาท

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน CMAN มีกำลังการผลิตปูนไลม์จากโรงงานในประเทศไทย 9 แสนตันต่อปี และจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน หลังจากโรงงานปูนไลม์ 2 แห่งที่มีกำลังการผลิต 1.5 แสนตันต่อปีในอินเดียเริ่มเดินเครื่องผลิตในช่วงต้นปี 2562 ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อลงทุนสร้างโรงงานปูนไลม์ในเวียดนาม ลาว และปาปัวนิวกีนี รวมทั้งขยายศูนย์กระจายสินค้าในออสเตรเลียเพิ่มอีก 1 แห่ง จากปัจจุบันที่มี 2 แห่ง โดยคาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้ากำลังผลิตจะเพิ่มเป็น 2 ล้านตันต่อปีได้

“บริษัทฯมั่นใจว่าในปีหน้า เราจะเป็นติดกลุ่ม 1 ใน 10 ผู้นำด้านการผลิตปูนไลม์ในระดับโลก โดยปัจจุบันเราเป็นผู้ดำเนินธุรกิจปูนไลม์เพียงรายเดียวในประเทศ ที่มีโรงงานและเหมืองปูนที่ได้รับประทานบัตรอายุ 25 ปี หรือจะหมดอายุวันที่ 23 มิ.ย.2583 ซึ่งหินปูนในเหมืองแห่งนี้มีปริมาณแคลเซียมสูงเป็นพิเศษ และมีปริมาณสำรอง 100 ล้านตัน เพียงพอที่จะผลิตปูนไลม์ได้ 50 ปี อีกทั้งเรายังมีแผนขยายเหมืองปูนไลม์ไปต่างประเทศอีกด้วย”นายอดิศักดิ์กล่าว

นายอดิศักดิ์ ระบุว่า ธุรกิจปูนไลม์และผลิตภัณฑ์เคมีที่เกี่ยวเนื่องยังมีโอกาสที่เติบโตอีกมากในอนาคต ทั้งจากความต้องการใช้ในประเทศที่จะเติบโตตามอุตสาหกรรมไบโอเคมิเคิล อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมกระดาษ และอุตสาหกรรมเหล็ก ขณะที่ความต้องการใช้ในต่างประเทศส่วนใหญ่จะมาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ โดยเฉพาะเหมืองทองคำ เหมืองเงิน และเหมืองนิเกิล

ปัจจุบัน CMAN มีลูกค้าในกว่า 20 ประเทศ โดยมียอดขายประมาณ 7 แสนตันต่อปี แบ่งเป็นลูกค้าในประเทศ 50% และลูกค้าต่างประเทศ 50% ในจำนวนนี้เป็นลูกค้าที่มีสัญญาระยะ 3 ปี 50-60% อีก 20% ขายตามราคาตลาด ส่วนที่เหลือจะสำรองเอาไว้ ส่วนความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์นั้น เนื่องจากบริษัทฯมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตส่วนใหญ่มีคุณภาพเกรดเอถึงบี ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงด้านราคา โดยปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500-3,000 บาทต่อตัน และราคาจะปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน

“เราเป็นหุ้นน่าลงทุนในระยะยาว ไม่เซ็กซี่แต่แข็งแรง”นายอดิศักดิ์กล่าว