HoonSmart.com>>คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบช่วย SPP Hybrid Firm ขยายวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (SCOD) ออกไป 1 ปี เป็นปี 2565 ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำหรับประชาชน ทั้งค่าไฟฟ้า LPG ส่วนแผนพลังงานปรับปรุงใหม่4 ฉบับรอส่งเข้าครม. ปรับรายละเอียด PDP 2018 ลดโรงไฟฟ้าโซลาร์ เพิ่มชีวภาพ-พลังน้ำขนาดเล็กของ กฟผ. 69 เมกะวัตต์
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบตามข้อเสนอเชิงนโยบายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อเยียวยาผู้ได้รับเลือกโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ขยายกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (SCOD) ออกไป 1 ปี จากเดิมปี 2564 เป็นปี 2565 จากปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาโครงการฯ ที่ไม่สามารถจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมได้ตามระยะเวลา
ทั้งนี้เมื่อปี 2560 กกพ.ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือก SPP Hybrid Firm ทั้งสิ้น 17 โครงการ ปริมาณเสนอขายทั้งสิ้น 300 เมกะวัตต์ (MW) และกำลังผลิตติดตั้งรวม 434.60 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ยังเห็นชอบแนวทางช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกมาตรการให้เป็นรูปธรรม เช่น การลดภาระค่าไฟฟ้า และให้คงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) อีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31ธ.ค.2563 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาขายปลีกอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วน LPG มาบริหาร ปัจจุบันมีรายจ่ายประมาณ 450 ล้านบาท/เดือน ยังคงเป็นไปตามกรอบวงเงินที่กำหนดไม่เกิน 10,000 ล้านบาท หรืออีกประมาณ 5 เดือน (ต.ค.2563 – ม.ค. 2564) ณ 13 ก.ย.2563 บัญชีก๊าซ LPG -7,424 ล้านบาท
ส่วนแผนด้านพลังงานที่ปรับปรุงใหม่ 4 ฉบับ ยังต้องรอเสนอ ครม. ประกอบด้วย 1.ร่างแนวทางการจัดทําแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยคงเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ไว้ตลอดแผนถึงปี 2580 ที่ 56,431 MW แต่จะปรับเปลี่ยนแผนการจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้ฟอสซิล เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
อาทิ ปรับเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในบางประเภทเชื้อเพลิง เช่นลดพลังงานแสงอาทิตย์ลง เพิ่มพลังน้ำขนาดเล็กของ กฟผ. 69 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) โดยมีเป้าหมายรวมคงเดิมที่ 18,696 เมกะวัตต์
สำหรับแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2018) ยังคงรักษาระดับเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity: EI) ลง 30% ภายในปี 2580 เมื่อเทียบกับปี 2553 สามารถลดการใช้พลังงาน 49,064 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และ Gas Plan ความต้องการใช้ก๊าซในภาพรวมในปี 2580 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี หรืออยู่ที่ 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ความต้องการใช้ในโรงแยกก๊าซและภาคขนส่งลดลง