คอลัมน์ KTAM Focus : หุ้นจีนยกระดับ

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

นักการเมืองสหรัฐเล่นชักกะเย่อกันไม่จบ หาจุดลงตัวเรื่องขนาดแพคเกจเงินช่วยเหลือรอบใหม่ไม่ได้ พรรคเดโมแครตซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาล่างนำโดยท่านประธาน Nancy Pelosi อยากจัดชุดใหญ่ $2.2 ล้านล้าน แจกกระจายให้ทั่วถึงรัฐบาลท้องถิ่น แต่ฝ่ายรีพับลิกันซึ่งยึดสภาบนยอมอนุมัติไม่ถึงครึ่งของข้อเรียกร้องโดยให้แค่ล้านล้านเดียว นอกจากนี้ แรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดูเหมือนยังไม่สะเด็ดน้ำ ปัจจัยลบดังกล่าวกด 2 ดัชนีหุ้นสหรัฐ S&P 500 และ Nasdaq ร่วง 3 วันติดต่อกัน ลงมาปิดสิ้นสัปดาห์ทำจุดต่ำสุดใหม่ของเดือนนี้

หุ้นจีนปรับฐานตามตลาดสหรัฐ แต่เริ่มฟื้นตัวในสัปดาห์ที่ผ่านมา ETF สกุลดอลลาร์ซึ่งเกาะดัชนีหุ้นสำคัญๆของ 2 ประเทศผู้นำโลก สะท้อนความแตกต่างที่น่าสนใจ โดยตั้งแต่ต้นเดือนถึงวันศุกร์ (18 ก.ย.) MSCI China A (CNYA) -1.8%, MSCI China (MCHI) -2.2% ลบน้อยกว่า S&P 500 (SPY) -5.3%, Nasdaq (QQQ) -9.5% แถมหุ้นจีน A-shares สองวันทำการล่าสุดยังบวกสวนชาวบ้านอีกด้วย!

เซี่ยงไฮ้คอมโพสิตทะยานขึ้น 2% เมื่อวันศุกร์ บนความคาดหวังว่า รัฐบาลจีนอาจจะกระตุ้นเพิ่มเร็วๆนี้ ดูแล้วมีเหตุผลไม่น้อย เพราะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวดีกว่าประเทศอื่นๆก็จริง แต่ยังต้องการแรงสนับสนุนของภาครัฐ ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกีดกันโดยต่างชาติ ทั้งนี้ จีนยังมีกระสุนนโยบายอีกเพียบทั้งด้านการเงินและการคลัง ถ้าจะทำอะไร (เพิ่มการใช้จ่าย ลดภาษี ลดดอกเบี้ย ลด RRR ฉีดสภาพคล่อง ฯลฯ) ก็สะดวกโยธินเมื่อดอลลาร์อ่อนค่า เพราะสหรัฐยังเมาหมัด เฟดจึงต้องคงดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกนาน เปิดทางให้จีนสามารถดำเนินนโยบายผ่อนคลายอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องพะวักพะวงกับการแก้ปัญหาเงินไหลออก (capital outflows) ดังเช่นในปี 2015 ซึ่งตอนนั้นเฟดเตรียมขึ้นดอกเบี้ย อนึ่ง เงินหยวนแข็งค่ากว่า 3% เทียบดอลลาร์ในปีนี้ โดยมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องราว 6% จากระดับอ่อนค่าสุดในเดือน พ.ค. สะท้อนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ชี้ว่า นโยบายจีนยังเข้มงวดเกินไปและควรกระตุ้นเพิ่มเติม

นักลงทุนชาวจีน 170 ล้านคนกำลังเข้าสู่ new normal โดย Bloomberg เผยข้อมูลครึ่งแรกของปี 2020 ผู้ลงทุนรายย่อยซื้อกองทุนหุ้นจีนเกือบ 4.9 แสนล้านหยวน ขณะลงทุนหุ้นรายตัวแบบตรงๆในตลาดเพียง 3.4 แสนล้านหยวน แตกต่างจากเมื่อปี 2015 ที่รายย่อยซื้อหุ้นเอง 2.2 ล้านล้านหยวน คิดเป็นปริมาณเกือบ 2 เท่าของยอดซื้อกองทุน!

ชาวจีนมองนักลงทุนสถาบันดีขึ้นมาก จากอดีตที่บรรดากองทุนมักเน้นหุ้นขนาดใหญ่ผลตอบแทนต่ำ แต่ภาพปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว! ครึ่งปีแรกกองทุนหุ้นจีนโดยเฉลี่ยชนะดัชนี CSI 300 อยู่ถึง 21% ต่อเนื่องจากที่ชนะมาแล้วในปี 2019

ตลาดหุ้นจีน onshore (A-shares) กำลังยกมาตรฐานขึ้นและมุ่งสู่ยุคของนักลงทุนสถาบัน ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพ และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อไปในระยะยาว

หุ้นจีน “จำเป็น” ต้องปรับตัวขึ้น ในระยะยาว เพื่อให้เกิด wealth effect (หุ้นขึ้น เพิ่มความมั่งคั่งแก่ประชาชน ทำให้กล้าจับจ่ายใช้สอย อ่านเพิ่มเติม “Healthy Bull Ashares” 26 ก.ค.) สนับสนุน “การบริโภค” ซึ่งเป็นหัวใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนยุคปัจจุบันและอนาคต A-shares หุ้นจีนในตลาดเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น market cap ใหญ่มาก พากันตบเท้าเข้าสู่ดัชนีระดับโลกในสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อยๆ หนุนแนวโน้มความต้องการ A-shares ในหมู่นักลงทุนสถาบัน ตลาดหุ้นจีนสภาพคล่องซื้อขายสูงมาก มีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยสูง เปิดทางให้ผู้จัดการกองทุนที่บริหารเชิงรุก (active) มีโอกาสดีในการสร้างผลตอบแทนชนะดัชนี กองทุนเปิดเคแทม ไชน่า เอแชร์ อิควิตี้ ฟันด์ (KT-Ashares) ลงทุนใน Allianz Global Investors Fund – Allianz China A-Shares (กองทุนหลัก) share class PT สกุลดอลลาร์สหรัฐ โดยกองทุนหลักได้ Morningstar 5 ดาว (31 ก.ค. 2020) นอกจากนี้ผู้บริหารกองทุนคือ Allianz ได้รางวัล Best of The Best Awards (3 ปี) ในหมวด China A-Share Equity โดย Asia Asset Management (เม.ย. 2020)

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

อ่านเพิ่ม

คอลัมน์ KTAM Focus : Healthy Bull Ashares