Theme การลงทุนในเรื่องจำเป็น (SET Essentials)

โดย ฉัตรชัย ทิศาดลดิลก, พริษฐ์ เงาเบญจกุล, ศิริยศ จุฑานนท์
ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เรื่องราว (theme) การลงทุนมีหลากหลายแนวทางและได้รับความนิยมจากนักลงทุนจำนวนหนึ่ง ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การลงทุนแบบ theme จึงเป็นการลงทุนที่อาศัยการจับกระแสหรือทิศทางที่กำลังเปลี่ยนไปของเศรษฐกิจและสังคม และถูกนำมาพัฒนาเป็นดัชนีหรือพอร์ตการลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากทิศทางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก (global pandemic) บริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนแต่ละแห่งได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป และได้สะท้อนเข้าไปในผลตอบแทนจากการลงทุนและผลประกอบการแตกต่างกันไปเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤต ผู้คนยังคงต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต (basic needs) เช่น ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค

นอกจากตัวอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้น การใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน ยังมีอีกสองธุรกิจที่ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต อันได้แก่ การสื่อสาร และ สาธารณูปโภคพื้นฐานโดยในปี 2019 ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ต มากกว่า 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 75% ของประชากร เติบโตกว่า 170% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา1 นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 4%2 แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการสื่อสารและสาธารณูปโภคในยุคปัจจุบัน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พัฒนา เรื่องราว (theme) การลงทุนต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างเป็นดัชนีของพอร์ตการลงทุนหลากหลายเรื่องราวการลงทุน เช่น ดัชนีของการลงทุนในกลุ่มหุ้นยั่งยืน และดัชนีของการลงทุนในกลุ่มหุ้นปันผลสูง เพื่อเป็นแนวทางและทางเลือก ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้และพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงในตลาดทุนไทย โดยใน SET Note ฉบับนี้จะขอนำเสนอ เรื่องราว การลงทุนที่เรียกว่า ‘SET Essentials’ ซึ่งเป็น theme การลงทุนที่เน้นลงทุนในธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งจำเป็นดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และได้ทำการทดลองสร้างเป็นพอร์ตการลงทุน เพื่อเป็นตัวอย่างการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งรวมถึงแนวคิดการลงทุน กรอบระยะเวลาในการลงทุน หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุน รอบการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน รวมไปถึงการวัดผลการดำเนินงานของการลงทุน

SET Essentials: แนวทางการคัดเลือกหลักทรัพย์

หลักทรัพย์ที่นำมาใช้ในการทดลองจัดพอร์ตการลงทุน ต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้อย่างคล่องตัว เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (free-float) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้วของบริษัท มูลค่าการซื้อขายรายวันเฉลี่ยที่มากพอสมควร มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท รวมถึงมีการซื้อขายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป

การลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Essentials ที่ทดลองสร้างขึ้น ได้คัดเลือกหลักทรัพย์ที่มียอดขายในอันดับต้นๆ หรือเป็นตัวแทนของแต่ละกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน3 และกระจายน้ำหนักการลงทุนโดยใช้วิธีการคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market-cap weighting) และจำกัดน้ำหนักของแต่ละหลักทรัพย์ไม่เกินร้อยละ 10 ในทุกรอบที่มีการปรับสมดุล ซึ่งมีรอบระยะเวลาในการปรับทุกครึ่งปี (semi-annual rebalancing)

SET Essentials: การจัดกลุ่มหุ้นและผลตอบแทนการลงทุน

การคัดเลือกหลักทรัพย์และการกระจายน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Essentials ได้ผลตามภาพที่ 1 ซึ่งมีน้ำหนักของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ในสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของพอร์ต ในขณะที่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย การสื่อสาร และสาธารณูปโภค มีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ประมาณ 20% ของพอร์ต ทั้งนี้หลักทรัพย์ที่มีน้ำหนักมากที่สุด 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง และมีการกระจายตัวไปตามอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน โดยมีน้ำหนักรวมในกลุ่มหุ้นการลงทุนสูงถึงประมาณ 74% (ภาพที่ 2)

ในแง่ของการวัดผลตอบแทนรวมตามปีปฏิทินของการลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Essentials เปรียบเทียบกับดัชนีผลตอบแทนรวมของตลาด SET Total Return Index (SET TRI) ดังที่แสดงในภาพที่ 3 พบว่า SET Essentials ให้ผลตอบแทนที่มากกว่าในหลายๆ ปี เช่น ในปี 2563 ผลตอบแทนรวมจากการลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Essentials เท่ากับ -5.81% ในขณะที่ดัชนี SET TRI มีผลตอบแทนรวม เท่ากับ -14.29% เป็นต้น

หากวิเคราะห์ผลตอบแทนรวมแบบย้อนหลังตามช่วงเวลา พบว่า การลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Essentials มีผลตอบแทนรวม มากกว่าดัชนี SET TRI ในหลายๆ ช่วงเวลาย้อนหลัง เช่น สำหรับช่วง 5 ปีย้อนหลัง SET Essentials ให้ผลตอบแทน 27.25% สูงกว่า SET TRI ที่ได้ 19.21% ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงความผันผวนของผลการดำเนินงานต่อปี (SD) จากการลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Essentials มีค่า SD ที่ใกล้เคียงกับ ดัชนี SET TRI ในทุกช่วงเวลา (ภาพที่ 4)

เมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนรวม (Performance Attribution) 4 ย้อนหลัง 10 ปี (ภาพที่ 5) เปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัด พบว่า การลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Essentials มีผลตอบแทนส่วนเกินจากผลตอบแทนดัชนีอ้างอิง (Alpha) เท่ากับ 108.85% เป็นผลตอบแทนจากการจัดสรรเงินทุนตามกลุ่มอุตสาหกรรม (Allocation Effect) 101.77% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนส่วนเกินมากที่สุด 5 อันดับแรก ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

• กลุ่มที่ให้น้ำหนักมากกว่าน้ำหนักในดัชนีตลาด (over-weight) ได้แก่ ‘กลุ่มการแพทย์’ ‘กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร’ และ ‘กลุ่มพาณิชย์’ ซึ่งประกอบไปด้วย หลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร ที่อยู่อาศัยและเครื่องนุ่งห่ม

• กลุ่มที่ให้น้ำหนักน้อยกว่าน้ำหนักในดัชนีตลาด (under-weight) ได้แก่ ‘กลุ่มธนาคาร’ และ ‘กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค’ ซึ่งเป็นการให้น้ำหนักที่น้อยกว่าในกลุ่มพลังงาน และมากกว่าในกลุ่มสาธารณูปโภค

ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำดัชนีการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกและแนวทางสำหรับ theme การลงทุนในรูปแบบต่างๆ และสอดคล้องกับพัฒนาการของตลาดทุน ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนที่หลากหลาย เช่น ดัชนี SETCLMV (SET CLMV Exposure Index) เป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีรายได้จากประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม)

รวมถึง ดัชนี SETWB (SET Well-Being Index) เป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของกลุ่มหลักทรัพย์ 30 หลักทรัพย์ ใน 7 หมวด ธุรกิจที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและเป็นธุรกิจที่ผู้ลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ซึ่งการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้มีผลต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ นำมาสู่การสร้างรายได้แก่คนในประเทศ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนไทย โดยดัชนี SETCLMV และ SETWB ค่อนข้างฟื้นตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา (ภาพที่ 6)

ทั้งนี้ ยังมีดัชนีของกลุ่มหลักทรัพย์หรือการลงทุนที่สะท้อน theme ต่างๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พัฒนาขึ้น โดยผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.set.or.th/th/products/index/setindex_p1.html