ทริสฯมองบวก SINGER กำไรยังดีขึ้น 2-3 ปี คงเรทติ้ง “BBB-”

HoonSmart.com>>ทริสเรทติ้งมองแนวโน้มซิงเกอร์ฯดีขึ้น จากคุณภาพสินทรัพย์ เสถียรภาพของรายได้  คุณภาพของผลประกอบการ  ส่วนต่าง ดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับ 13-13.5% ฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ธุรกิจค่อนข้างเล็กและกลุ่มลูกค้าสินเชื่อมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง

บริษัททริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ที่ระดับ “BBB-” และปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “คงที่” จาก “ลบ” สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ เสถียรภาพของรายได้ และคุณภาพของผลประกอบการที่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่มีขนาดค่อนข้างเล็กและกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อการบริโภครายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเป็นปัจจัยลดทอนอันดับเครดิต

ทริสประเมิน สถานะความเสี่ยงที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การตัดหนี้สูญและระบบการจัดเก็บหนี้ที่ดีขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลดลง สำรองหนี้สูญที่เพิ่มสูงขึ้นก็ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่ง ส่วนการรุกเข้าไปในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ที่มีอัตราการชำระหนี้ล่าช้าน้อยกว่าก็ช่วยทำให้คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมแข็งแกร่งขึ้นและช่วยกระจายความเสี่ยงธุรกิจได้

อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงสู่ระดับ 6.5% ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2563 จากระดับ 12.2% ในปีก่อน โดยยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง 24% การก่อตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก็ลดลงสู่ระดับ 9.6% ในช่วงครึ่งปีแรก จากระดับ 19.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 การตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มจำนวน 339 ล้านบาท ตามการบังคับใช้ครั้งแรกของมาตรฐานบัญชี TFRS9 ได้เพิ่มความแข็งแกร่งของอัตราส่วนสำรองหนี้สูญขึ้นสู่ระดับ 93% ณ สิ้นเดือนมิ.ย.63  จากระดับ 25% ณ สิ้นปี 2562 ก่อนการบังคับใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9

อย่างไรก็ตาม ทริสยังคาดว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบด้านคุณภาพสินทรัพย์จากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแออันเป็นผลกระทบที่เกิดจากโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับสถาบันการเงินแห่งอื่น โดยประมาณการ NPLs จะอยู่ที่ระดับ 7-8% และต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 8%-9% ในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งสะท้อนการเสื่อมถอยของคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Underperforming หรือ Stage-2) และการผิดนัดชำระหนี้ที่เริ่มส่งสัญญาณเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2563  ส่วนคุณภาพสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ยังอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับ 0.9% ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2563

ทริสฯคาดว่าคุณภาพของผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า นโยบายควบคุมราคาขายของตัวแทนจำหน่ายจะช่วยหนุนกำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)ให้อยู่ในระดับที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ธุรกิจรายย่อยซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศประกอบกับการรุกเข้าสู่ตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ น่าจะช่วยสร้างผลตอบแทนจากการปล่อยกู้ที่มีการปรับค่าความเสี่ยงที่มั่นคงได้มากขึ้น ทริสฯยังคาดว่าการขยายธุรกิจผ่านช่องทางแฟรนไชส์จะช่วยรักษาระดับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้อยู่ในระดับต่ำได้ โดยมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับ 13-13.5%

ทริสเรทติ้งประมาณการความสามารถในการทำกำไร ซึ่งวัดโดยอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ยที่ระดับประมาณ 5.3% ในปี 2563 และ 4.1% ในปี 2564-2565 บริษัทสามารถปรับปรุงผลกำไรให้ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2562 โดยมีอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 2.7% ในปี 2562 จากระดับ -1.1% ในปี 2561 โดยมีต้นทุนทางเครดิตที่ลดต่ำลง กำไรขั้นต้นและประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นปัจจัยหลัก

สถานะทางธุรกิจของบริษัทสะท้อนถึงขนาดธุรกิจที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ประกอบด้วยธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนแบบเงินผ่อน และการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ซึ่งมุ่งเน้นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม โดยมีขนาดสินทรัพย์รวม 6.9 พันล้านบาท ณ เดือนมิ.ย.2563 แม้ว่าบริษัทจะมุ่งขยายธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเชิงพาณิชย์ แต่ยังคงมุ่งเน้นธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนสำหรับลูกค้ารายย่อย ซึ่งช่วยลดความกระจุกตัวของแหล่งรายได้และสินเชื่อ เครือข่ายทั่วประเทศอยู่ในช่วงของการขยายตัวประกอบด้วย  175 สาขา 1,360 แฟรนไชส์ และพนักงานขายกว่า 3,800 คน เป็นปัจจัยเกื้อหนุนความกระจายตัวของพื้นที่ครอบคลุมทางธุรกิจ ที่มาของรายได้หลัก จากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้า (ประมาณ 60% ของรายได้รวมในปี 2562) ตามมาด้วยรายได้จากดอกเบี้ย (ประมาณ 40%) นอกจากนี้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกมีสัดส่วนอยู่ที่ระดับ 25% ซึ่งเป็นระดับที่บริหารจัดการได้

ทริสฯคาดว่าระดับฐานทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยประมาณการอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงที่ระดับ 17%-22% ในช่วงปี 2563-2565 แม้ว่าจะมีอัตราการขยายตัวของสินเชื่อในระดับสูง โดยประมาณการอัตราการเติบโตของรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและการปล่อยสินเชื่อที่ระดับ 40%-50% ในปี 2563 ตามด้วยระดับ 10%-20% ในปี 2564-2565 การเติบโตที่แข็งแกร่งคาดว่าจะมาจากรายได้จากการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ และอัตราการจ่ายเงินปันผลตามนโยบายของบริษัทที่ระดับ 60% อีกด้วย ซิงเกอร์ได้ตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชี TFRS9 เป็นมูลค่า 339 ล้านบาทโดยหักจากกำไรสะสม ณ ต้นปี 2563 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงสู่ระดับ 26.7% ณ สิ้นเดือนมี.ค.จากระดับ 33.0% ณ สิ้นปี 2562 อัตราการก่อหนี้ยังอยู่ในระดับปานกลาง ตามข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้ บริษัทจำเป็นจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้ต่ำกว่า 3 เท่า

แหล่งเงินทุนที่เพียงพอในระยะยาวของบริษัทสะท้อนถึงแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคง ทริสประมาณการอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 100% ระหว่างปี 2562-2563 ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง ณ เดือนมิ.ย. 2563 บริษัทมีตราสารหนี้คงค้างเป็นมูลค่า 3.6 พันล้านบาท โดยประมาณ 2 ใน 3 ของตราสารหนี้มีวันครบกำหนดชำระเกิน 1 ปี ทริสยังคาดว่าแหล่งที่มาของสภาพคล่องที่พอเพียงและกระแสเงินสดจากสินเชื่อจะเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อแบบมีเงื่อนไขผูกมัด จากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่เป็นมูลค่า 466 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2563

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน (ในระหว่างปี 2563-2565)
• การขยายตัวของสินเชื่อคงค้างจะอยู่ที่ระดับ 40% ในปี 2020 และ 17%-18% ต่อปีในปี 2564-2565
• ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับ 13%-13.5%
• ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจะอยู่ในระดับ 7%-8% ต่อปี