NEP ซิลลิ่งแรก เก็งปลดป้าย C หุ้นใหญ่ AS อู้ฟู่ “ทวีฉัตร” โกย 92 ลบ.

HoonSmart.com>>เอเชียซอฟท์ฯ จุดพลุหุ้น C  หลังปลดป้ายสำเร็จ ราคาซิลลิ่ง 6 วันติดต่อกัน แจกกำไร 119%  เพิ่มเงินในกระเป๋าผู้ถือหุ้นใหญ่ ” ทวีฉัตร จุฬางกูร”ได้ 92 ล้านบาท   “เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์”เผยแนวทางแก้ไขมีทิศทางที่ดีขึ้น ไตรมาส 2/63 ขาดทุนลดลง นักลงทุนลุยซิลลิ่งวันแรก  

นักลงทุนหันมาสนใจหุ้นแขวนป้าย C หลังจาก บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (AS) สร้างสถิติใหม่ ราคาพุ่งแรงชนเพดานสูงสุด(ซิลลิ่ง) ติดต่อกันถึง 6 วัน (17-24ส.ค.)จากราคาปิดที่1.93 บาท กระโดดขึ้นไปปิดที่ 4.24 บาท จึงไม่แปลกเมื่อ บริษัท เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม (NEP) รายงานทิศทางที่ดีขึ้นของผลการดำเนินงาน มีการลุยซื้อหุ้นจนราคาปรับตัวขึ้นแรงชนซิลลิ่ง ปิดที่ 0.23 บาท +0.03 บาทหรือ+15.00% เช่นเดียวกัน

ส่วน บริษัท พีพี ไพร์ม(PPPM) ที่สามารถแก้ปัญหา C กลับมาซื้อขายตามปกติพร้อมกับ AS เมื่อวันที่ 18 ส.ค. กลับไม่ได้ความสนใจจากนักลงทุนมากนัก ราคาปิดที่ 0.36 บาท -0.01 บาท วันที่ 24 ส.ค.2563

ทั้งนี้หุ้น AS วิ่งขึ้นมาจากราคา1.93 บาท วันที่ 17ส.ค. ที่ผ่านมา จนมาถึงวันที่ 24 ส.ค. เปิดซิลลิ่ง 4.34 บาทก่อนเจอแรงขายมาปิดที่ 4.24 บาท +0.46 บาทคิดเป็น 12.17% รวม 6 วัน ราคาหุ้นพุ่งแรง 119.69%  เท่ากับ 2.31 บาท/หุ้น สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยนาย ปราโมทย์ สุดจิตพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด จำนวน 46.16% น.ส. เสาวลักษณ์ จิตสัมฤทธิ์ ถือ10.10%

ส่วนนาย ทวีฉัตร จุฬางกูร ถือประมาณ 40 ล้านหุ้น หรือ 9.76% คิดเป็นเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นประมาณ 92.4 ล้านบาทในช่วง 6 วันทำการ

ด้าน NEP ราคาเพิ่มขึ้น 0.03 บาท /หุ้น สร้างผลตอบแทนให้กับบริษัท วาวา แพค ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ 19.78% กระทรวงการคลัง 12.72% น.ส. นฤพร กาญจนจารีถือ 8.05% นาย ณัฐพล จุฬางกูร ถือ 7.78% นอกจากนี้นาง หทัยรัตน์ จุฬางกูร ร่วมถือหุ้นด้วย 1.50%

บริษัท NEP รายงานว่า ได้จัดประชุม Public Presentation เพื่อให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง เรื่องแนวทางการแก้ไขเครื่องหมาย C ว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2/2563 มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้น และมีผลขาดทุนที่น้อยกว่าไตรมาสที่ 2/ 2562 บริษัทคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะมุ่งเน้นในส่วนของการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิต การพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น บริษัทจะยังคงดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ แต่จะเพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้มีผลการดำเนินงานที่ดีและสามารถทำกำไรจากการดำเนินงานได้ภายในอนาคตอันใกล้นี้

อย่างไรก็ตาม NEP ยังจะต้องใช้เวลาอีกนาน ในการแก้ปัญหาส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว เพราะ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2563 บริษัทมีทุนเรียกชำระแล้ว 2,325 ล้านบาท แต่มีส่วนต่ำมูลค่าหุ้น 571 ล้านบาท ใบสำคัญแสดงสิทธิที่หมดสิทธิการใช้ 37 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 1,077 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 713 ล้านบาท

แม้ว่าผลการดำเนินงาน ในไตรมาส 2/2563 จะดีขึ้นก็ตาม คือมีขาดทุนสุทธิ 6.55 ล้านบาท ลดลง9.20 ล้านบาทหรือ 58.41%เทียบกับขาดทุน 15.75 ล้านบาทในช่วงเดียวกัน และรวมครึ่งปีนี้ขาดทุนสุทธิ 12.76 ล้านบาท ลดลงจากขาดทุนสุทธิ 30 ล้านบาท มีรายได้จากการขาย 99.83 ล้านบาท เทียบกับ 92.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.28 ล้านบาทหรือ 7.87% เนื่องจากมียอดขายผลิตภัณฑ์ Flexible Packaging ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน

อ่านข่าว

“ทวีฉัตร จุฬางกูร” นักลงทุน “เทิร์นอะราวด์”