HoonSmart.com>>”ทวีฉัตร จุฬางกูร” และครอบครัว มีพอร์ตลงทุนมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทมากกว่า 40 แห่ง เห็นรายชื่อหุ้นแต่ละตัวแล้ว คงเกิดคำถามว่า”ซื้อทำไม” หลายบริษัทประสบปัญหาขาดทุนมานาน บางกิจการกำลังย่ำแย่ แต่กลับยืนเก็บเข้าพอร์ตเรื่อยๆ เป็นเพราะเหตุใด …
ปัจจุบัน “ทวีฉัตร” ลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 40 ตัว จัดหมวดหมู่ได้ 3 กลุ่ม คือ 1.หุ้นของครอบครัว 2. หุ้นที่ร่วมลงทุนกับเพื่อน-บริษัทของพันธมิตร 3. หุ้นที่มีอาการร่อแร่ รอเวลาในการพลิกฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งส่วนสุดท้ายมีความสำคัญมาก ทั้งที่คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนมหาศาลและผลตอบแทนที่สุดคุ้มค่า
กลุ่มจุฬางกูรได้นำ บริษัท ไทยสตีลเคเบิล (TSC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2548 ปัจจุบันมีพ่อคือ”สรรเสริญ” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง ตามด้วย Hi – lex Corporation Inc. ผู้ผลิตสายควบคุมรถยนต์และรถจักรยานยนต์รายใหญ่อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น และเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ถืออันดับสอง “ทวีฉัตร”ถืออันดับสาม จำนวน 8.16% บริษัทมีกำไรทุกปี 100-200 ล้านบาท ได้ผลตอบแทนปันผลสูงมากกว่า 6% ต่อปี แต่เพิ่งจะมาของดการจ่ายให้ผู้ถือหุ้นในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดเท่านั้น
และประมาณกลางปี 2557 ได้ส่ง บริษัท ไอร่า แคปปิตอล (AIRA) เข้าตลาดหุ้น โดย”กลุ่มจุฬางกูร” ได้ร่วมลงทุนกับ “กลุ่มวิไลลักษณ์-กลุ่มงามเศรษฐมาศ” จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อลงทุนในบริษัทต่างๆ
AIRA แบกขาดทุนมานานไม่ต่ำกว่า 5 ปี เพราะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างอาณาจักรไอร่า ด้วยความหวังแต่งตัวบริษัทที่มีศักยภาพเข้าตลาดหุ้นในอนาคต
ขณะเดียวกัน “ทวีฉัตร” ยังมีการลงทุนหุ้นของกลุ่มวิไลลักษณ์ อาทิ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) และ บริษัท สามารถ ดิจิตอล (SDC) ซึ่งถือมานานมาก ตั้งแต่ SDC ยังมีชื่อเดิม บริษัทสามารถ ไอ-โมบาย หรือ SIM
“ทวีฉัตร”เป็นนักลงทุนรายใหญ่ และเก่งมาก มองเห็นโอกาสในยามที่เกิดวิกฤต อาศัยฝีมือในการเลือกหุ้น”ถูกตัว”และเข้าลงทุน”ถูกจังหวะ” จึงมักจะได้”ของดี ของถูก” เก็บไว้ในพอร์ต เก็บเพลิน จะตั้งใจหรือไม่ ปัจจุบันกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งใน บริษัทสายการบินนกแอร์(NOK) บริษัท บีอีซี เวิลด์ (BEC) บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น (SE-ED) บริษัท นวนคร (NNCL) บริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป (MODERN) และบริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น(RICH)
นอกจากนี้ยังถือหุ้นใหญ่อันดับสอง ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ (CI) บริษัท ซาฟารีเวิลด์(SAFARI) บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ (JCKH)
หากรวมการถือหุ้นของแม่ (หทัยรัตน์) และน้องชาย (ณัฐพล-วุฒิภูมิ-กรกฤช)ด้วย พบว่า กลุ่มจุฬางกูรเป็นเจ้าของกิจการไปเรียบร้อยแล้ว จากการถือหุ้นมากกว่า 50% ของทุนเรียกชำระแล้ว
ทั้งนี้ยังไม่รวมหุ้นที่”ณัฐพล”ลงทุน แต่ไม่ปรากฎชื่อ”ทวีฉัตร” เช่น บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม ( EFORL) ถือ 1.23% บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) 3.37% บริษัท เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม (NEP) 7.78%
คนในวงการตลาดทุน เล่าให้ฟังว่า “ทวีฉัตร” เข้าซื้อหุ้นในจังหวะที่เจ้าของต้องการความช่วยเหลือ แรงซื้อช่วยงัดราคาหุ้นขึ้น เป็นโอกาสได้ต้นทุนที่ต่ำมาก หลายดีลได้เงินปันผล ทำให้หุ้นไม่มีต้นทุน และได้กำไรมากกว่าเท่าตัว หลังจากธุรกิจพลิกฟื้นได้สำเร็จ ปัจจุบันยังคงถือหุ้นใหญ่
บางบริษัท ถืออยู่แล้ว เกือบ 5% แต่ไม่อยากรายงานการได้มาตามเกณฑ์ของก.ล.ต. เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 5% จึงให้คนในครอบครัวเข้าไปซื้อเพิ่มในตลาดหลักทรัพย ดังนั้นข้อมูลในการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นในแต่ละบริษัทล่าสุด จึงมีความคลาดเคลื่อนบ้างเล็กน้อย
ขณะเดียวกัน หุ้นที่ซื้อไว้ ก็มีการขายออกไปแล้ว อาทิ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส(IVL) และบริษัทบ้านปู(BANPU)
แต่หากยังมองเห็นโอกาสของหุ้นชั้นดี ก็มีการลงทุนเพิ่ม ล่าสุด 7 ส.ค. 63 “หทัยรัตน์” ซื้อ BEC จำนวน 0.0509% ทำให้ถือหุ้นทั้งหมด 5.019% คาดว่าธุรกิจช่อง 3 ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว หากไม่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19
ปัจจุบันช่อง 3 ขายลิขสิทธิ์ละครไปออกอากาศที่ต่างประเทศ เช่น เกาหลี ฟิลิปินส์ และมาเลเซีย พร้อม จับมือ Tencent ดันละครดังขึ้น WeTV ขยายฐานคนดูในจีน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี
หุ้นที่ลงทุนได้รับผลตอบแทนที่สูงมาก เมื่อผลการดำเนินงานพลิกกลับ “เทิร์นอะราวด์” แต่ก็มีบางตัวที่ยังอยู่ในห้องไอซียู เช่น SAFARI, RICH โดยตลาดหลักทรัพย์ กำลังเปิดให้ซื้อขายหุ้น RICH เป็นเวลา 7 วันทำการ(7-18 ส.ค.2563) ด้วยบัญชีแคชบาลานซ์ ก่อนจะเพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน มีผลตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป จะต้องเดินหน้าแก้ไข เพื่อให้กลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง
ส่วนดีลที่สร้างความฮือฮา กลุ่มจุฬางกูร เข้าเทคโอเวอร์ บริษัท สายการบินนกแอร์(NOK) ต้องออกแรงหนักมาก ใส่เงินเพิ่มทุนไปตั้งหลายรอบแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อให้ ดูเหมือนว่าธุรกิจกำลังจะหมุนไปได้ แต่เมื่อมาเจอวิกฤตล็อกดาวน์ทั่วโลก ลูกค้าหายวับ ต้องดิ้นหนีตาย บริษัทต้องกู้ยืมเงินจาก”หทัยรัตน์” อีก 3,000 ล้านบาท ประกาศยกธง ยื่นขอเข้าฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากมีหนี้สิน 2.6 หมื่นล้านบาท มากกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ 2.3 หมื่นล้านบาท ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัทแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. ในระหว่างสามารถพักการชำระหนี้ เพื่อให้บริการการบินได้ตามปกติ แต่ต้องต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ศาลฯจะอนุมัติแผนฟื้นฟูฯหรือไม่ ธุรกิจจะพลิกฟื้นกลับมาได้หรือไม่ หากประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวังว่า คิดไม่ถูกว่าผลตอบแทนจะกลับคืนสู่ผู้ถือหุ้นกี่ร้อยเปอร์เซนต์
ดังนั้นในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจและการลงทุนกำลังเผชิญกับวิกฤต นักลงทุนอย่ามั่วแต่”กลัว” ควรมองหาโอกาสบ้าง เชื่อว่ายังมีหุ้นดีๆ ให้เลือกลงทุน แต่หากไม่รู้ว่าจะซื้อหุ้นตัวไหนดี ลองใช้พอร์ตของ”ทวีฉัตร” ที่ผ่านการคัดกรองข้อมูลระดับหนึ่งแล้ว มาประกอบการตัดสินใจลงทุนในระยะยาวได้