TU เบรคนำบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น มีเงิน1,500 ลบ.ซื้อหุ้นคืน-เงินสดแกร่ง

HoonSmart.com>>”ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป”ชะลอนำบริษัทไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ เข้าตลาดหุ้น ยังไม่รีบ ภาวะตลาดผันผวน ส่วนการซื้อหุ้นคืน TU ลงทุนแค่ครึ่งหนึ่งจากบอร์ดอนุมัติ 3,000 ล้านบาท ปีนี้ลดงบลงทุนเหลือ 3,700 ล้านบาท ครึ่งปีใช้ไป 1,400 ล้านบาท โชว์กระแสเงินสดแกร่ง 6,687 ล้านบาท มั่นใจไตรมาส 3 ยอดขายอาหารแช่แข็งดี   ส่วนอาหารกระป๋องโต ไม่เท่าไตรมาส 1 และ 2 ที่ได้อานิสงส์โควิด-19  

นายบัลลังก์ ไวยานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ดูแลด้านนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยกรณีบริษัทจะนำบริษัทไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2563 ว่า ยังคงชะลอออกไปก่อน เนื่องจากภาวะตลาดผันผวน ทั้งนี้ TFM ดำเนินธุรกิจประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับโครงการซื้อหุ้นคืนของ TU บริษัทยังคงดำเนินการอยู่ ปัจจุบันยังลงทุนไม่ครบตามงบที่ตั้งไว้ ทั้งนี้คณะกรรมการอนุมัติวงเงิน 3,000 ล้านบาท สำหรับซื้อหุ้นคืนจำนวน 200 ล้านหุ้นหรือ 4.19%

ทั้งนี้ในเดือนส.ค. บริษัทไม่มีการซื้อหุ้นคืนแต่อย่างใด ครั้งหลังสุดวันที่ 22 ก.ค. 2563 ซื้อจำนวน 5,195,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 13.70-13.90 บาท เป็นเงิน 71.91 ล้านบาท ถึงปัจจุบันซื้อหุ้นแล้ว 116,682,800 หุ้น สัดส่วน 2.45% มูลค่ารวมที่ซื้อคืน 1,517.73 ล้านบาท

ส่วนแผนการลงทุนในปี 2563 จำนวน 3,700 ล้านบาท จากเดิมคาดไว้ 4,900 ล้านบาท ยังเน้นการลงทุนเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต โดยในช่วงครึ่งปีแรก ใช้ไปแล้ว 1,400 ล้านบาท  และกลยุทธ์รักษาสภาพคล่องของกระแสเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 2/63 มีจำนวน 6,687 ล้านบาท จากการลดค่าใช้จ่าย และเงินลงทุนที่ยังใช้ไม่หมด ทำให้มีความสามารถในการชำระหนี้จากสถาบันการเงิน และจ่ายปันผลระหว่างกาล ในอัตราหุ้นละ 0.32 บาท

“เราไม่มีเงินกู้ที่จะรีไฟแนนซ์ในปีนี้ เป็นผลดีที่จะรักษากระแสเงินสดไว้ และมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ในระดับต่ำ 0.96 เท่าจะรักษาไม่ให้เกิน 1-1.1 เท่า “นายบัลลังก์กล่าว

ส่วนทิศทางผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2563 จะเติบโตต่อเนื่อง จากการเริ่มกลับมาเปิดเมือง และร้านอาหารที่เปิดให้บริการได้ตามปกติ ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของยอดขายอาหารทะเลแช่แข็ง ใกล้เคียงกับระดับปกติ รวมถึงยอดขายของอาหารกระป๋องที่ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่จะไม่สูงกว่าไตรมาส 1 และ 2 ที่ได้รับผลบวกจากผลกระทบโควิด-19

ขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกา คาดยอดขายมีการเติบโตขึ้นเนื่อง  จากไตรมาส 2/63 เพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และเพิ่มขึ้น 8.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของที่แล้ว ด้านในประเทศยุโรปคาดว่ามีการเติบโตดี ส่วนไตรมาส 2/2563 ยอดขายลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของที่แล้ว แต่ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

บริษัทประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,716 ล้านบาท พุ่งขึ้น 1,440% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 111ล้านบาท และรวมครึ่งปีนี้มีกำไรสุทธิ 2,732 ล้านบาท เทียบกับจำนวน 1,385 ล้านบาท

กำไรไตรมาส2/2563 ที่เติบโตมาก มาจากยอดขายเพิ่มขึ้น 2.6% มาอยู่ที่ 33,051 ล้านบาท โดยหลักมาจากยอดขายสินค้าธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปเพิ่มขึ้นถึง 16.8% ขณะที่ยอดขายธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งลดลง 14% ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง นอกจากนี้ยอดขายสินค้าแบรนด์ที่มีอัตรากำไรสูงเพิ่มขึ้น และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)ไตรมาสที่ 2/2563 อยู่ที่ 18.2% เพิ่มขึ้น 1.59% และในปีนี้ไม่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายทางกฎหมายมูลค่า 1,402 ล้านบาทเหมือนไตรมาส 2 ในปีก่อน