AOT ขาดทุน 2,934 ล้านบาท AAV ติดลบหนัก 1,141 ลบ.

HoonSmart.com>>ท่าอากาศยานไทย รับผลกระทบโควิด- 19  ไตรมาส 3 ขาดทุนอ่วม 2,934 ล้านบาท หรือ 150% รายได้ขาย-บริการลดลง 91% จำนวนเที่ยวบิน ลดลง 88.69 % จำนวนผู้โดยสาร ลดลง 95.73% ส่วนเอเชีย เอวิเอชั่น ไตรมาส 2 มีรายได้ 2,221 ล้านบาท ทรุดลง 78% ค่าใช้จ่ายรวม 4,021 ล้านบาท ลดลง 63%

บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3/2563 (1 เม.ย.-30 มิ.ย.) ขาดทุนสุทธิ 2,934 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.21 บาท แย่ลง 8,817 ล้านบาท หรือ 150 %  เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรสุทธิ 5,883 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.41 บาท

ส่วนงวด 9 เดือน กำไรสุทธิ 8,048.45 ล้านบาท ลดลง 11,857 ล้านบาท หรือ 59.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรสุทธิ 19,905.18 ล้านบาท

บริษัทชี้แจง ไตรมาส 3/63 กำไรลดลง 150% มาจากสาเหตุ รายได้รวมลดลง 13,830.85 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรวมลดลง 2,758.78 ล้านบาท และภาษีเงินได้ลดลง 2,214.17 ล้านบาท

นายสมบูรณ์ น้อยน้ำคำ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน AOT ชี้แจงว่า การขาดทุน มีสาเหตุหลัก คือ รายได้การขายหรือให้บริการลดลง 13,795.43 ล้านบาท หรือ 91.27% เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19  ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบิน ลดลง 88.69%  และจำนวนผู้โดยสาร ลดลง 95.73% ของทั้ง 6 ท่าอากาศยาน มีผลให้รายได้เกี่ยวกับกิจการการบินลดลง 8,110.38 ล้านบาท หรือ 97.46% สาเหตุจากการลดลงของรายได้ค่าบริการผู้โดยสารขาออก

นอกจากนี้ รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน ลดลง 5,685.05 ล้านบาท หรือ 83.69% ส่วนใหญ่เกิดจาก การลดลงของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ เนื่องจาก บริษัทมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยาน ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ค่าใช้จ่ายรวมลดลง 2,758.78 ล้านบาท หรือ 33.54 % ลดลง เนื่องจากไม่มีการตั้งประมาณการโบนัสพนักงาน 970.43 ล้านบาท และค่าจ้างภายนอกลดลง 791.37 ล้านบาท จากการลดลงของค่าบริการตรวจสอบผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) ในส่วนที่จ่ายให้ service provider รวมทั้ง ภาษีเงินได้ลดลง 2,214.17 ล้านบาท หรือ 152.41% เนื่องจากผลดำเนินงานที่ขาดทุน

สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ของท่าอากาศยาน ทั้ง 6 แห่ง ในช่วง 9 เดือน  มีจำนวนเที่ยวบินรวม 438,840 เที่ยวบิน ลดลง 35.17% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 232,655 เที่ยวบิน และเที่ยวบินในประเทศ 206,185 เที่ยวบิน

จำนวนผู้โดยสารรวมทั้งหมด 65.15 ล้านคน ลดลง 39.58% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 37.29 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ 27.86 ล้านคน

ด้าน บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV)แจ้งผลงานไตรมาส 2/2563 ขาดทุนสุทธิ  1,141 ล้านบาท แย่ลง 658 ล้านบาท หรือ 136% จากที่ขาดทุน 482 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน และไตรมาสแรกขาดทุน  671 ล้านบาท โดยรวม 6 เดือนปีนี้ขาดทุน 1,812 ล้านบาท พลิกจากกำไร 14 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน

สาเหตุที่ทำให้ขาดทุนมาก ในไตรมาส 2/2563 บริษัทมีรายได้รวม 2,221 ล้านบาท ทรุดลง 78% จากที่มีจำนวน 10,006 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 4,021 ล้านบาท ลดลง 63% จากจำนวน 10,804 ล้านบาท ครึ่งปีนี้มีรายได้รวมลดลง 55% เหลือ 9,675 ล้านบาท

ในไตรมาส 2/2563 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19ในระยะต่างๆของแต่ละประเทศ การประกาศหยุดดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยว การจำกัดการเดินทาง ตลอดจนการระงับการเดินทางเข้าประเทศ