คอลัมน์ KTAM Focus : New-Normal Hedge

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

เศรษฐกิจแย่ / การลงทุนไม่ค่อยมี / หนี้เสีย / ดอกเบี้ยต่ำ คือเหตุผลซ้ำๆย้ำให้นักลงทุนพากันเบือนหน้าหนี “หุ้นแบงก์” ซึ่งเป็นองค์ประกอบใหญ่ใน “กลุ่มการเงิน” (financials) กดดัน sector ที่อดีตเคยเป็นดาวเด่นแห่งยุคก่อนวิกฤตการเงินโลกปี 2008 (Global Financial Crisis: GFC) underperform แพ้ดัชนีภาพรวมตลอดช่วงเวลากว่าทศวรรษหลังจากนั้นโดย 10 ปีที่ผ่านมา MSCI ACWI Financials สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยเพียงปีละ 4.79% ประมาณแค่ครึ่งเดียวของ MSCI ACWI ที่ทำไว้ 9.45% ต่อปี (gross returns ณ 31 ก.ค. 2020)

Undemanding Valuations ระดับราคาต่ำเตี้ยตอกย้ำว่า กลุ่มการเงิน “ไม่เป็นที่ต้องการ” P/E 11x, P/BV < 1 ต่ำกว่ามูลค่าบัญชี ถูกอย่างนี้ยังมีจริงใน financials …คล้ายอยู่กันคนละโลกกับผู้นำตลาดอย่าง technology sector ที่ราคาหุ้นสูงลิ่วทะลุฟ้า สะท้อนความกระหายหาการเติบโตในยุคดอกเบี้ยต่ำและเงินเกือบจะฟรี เพราะมีธนาคารกลางคอยปั๊มสภาพคล่องออกมาเป่าฟองสบู่สินทรัพย์ ให้ขยับขึ้นไปซื้อขายกันบนช่วงราคาใหม่สไตล์ new normal

ของถูกหรือแพงต่างมีเหตุผล แต่ความเห็น “ทางเดียว” ของคนส่วนใหญ่ มักสร้างโอกาสดีสำหรับ “ชาวสวน” (contrarians) รวมถึงผู้ลงทุนที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงตลาด (hedge against market risks) ปัจจุบันมีความเชื่อบางประการกำลังครอบงำความคิดของคนจำนวนมากเช่น “ดอกเบี้ยต้องต่ำต่อไปเรื่อยๆสิ!” (ทิ้งแบงก์-ซื้อเทคฯ) “ดอลลาร์ต้องอ่อนค่าสิ!” (ตุนทอง) ผู้ที่ลงทุนตามแนวโน้มดังกล่าว แม้เชื่อมั่นมากขนาดไหนก็ควรมีสถานะ (positions) บางอย่างอยู่ในพอร์ตเพื่อ “แทงสวน” หรือ “ป้องกันความเสี่ยง” เอาไว้รองรับกรณีปัจจัยที่กำลัง “พึ่งพิง” อยู่นั้นมันไม่เป็นไปอย่างที่คิด!

เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง (hedge) ควรสวนทางกับความเชื่อหลัก ในที่นี้คือได้ประโยชน์หาก “ดอกเบี้ยและยีลด์พันธบัตรฟื้นตัว” และ/หรือ “ดอลลาร์แข็งค่า” โดยหุ้นแบงก์หรือกลุ่มการเงินสามารถตอบโจทย์ข้อแรก อย่างไรก็ตาม “กองทุน” ที่เราเลือกมา น่าจะครอบคลุมความต้องการทั้ง 2 ประการได้ …คืออะไร? เฉลยตอนท้ายบทควา

2 ข่าวกระตุ้นความสนใจ อาจเพิ่ม upside ให้แก่หุ้นธนาคารพาณิชย์รวมถึงกลุ่มการเงิน โดยเฉพาะในสหรัฐ

Jerome Powell แถลงข่าวหลังประชุม FOMC 29 ก.ค. ซึ่งเฟดคงนโยบายผ่อนคลาย ประธานเฟด กล่าวตอนหนึ่งว่า ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐมีเงินทุนเพียงพอ ดังนั้น การผ่อนคลายเกณฑ์ leverage ratio หมายถึง อนุญาตให้แบงก์เพิ่มอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน เป็นการชั่วคราว จึงน่าจะช่วยสนับสนุนสินเชื่อแก่ระบบเศรษฐกิจ …นับเป็นความพยายามผ่อนคลายกฎระเบียบภาคการเงิน ต่อเนื่องจากที่เฟดได้ทำไปแล้วเช่น ยกเว้นไม่ต้องนำพันธบัตรสหรัฐไปคำนวณเพื่อกำหนดระดับสภาพคล่อง โดย Powell ระบุว่า ธนาคารกลางทั่วโลกต่างทยอยเพิ่ม “อัตราทด” (leverage = ขยายศักยภาพในการแสวงหากำไร) ให้แก่แบงก์พาณิชย์กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ยูโรโซน รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา

Warren Buffett ดอดโกยหุ้น Bank of America (BofA) $2.1 พันล้านเข้าพอร์ตใน 12 วันทำการ ท่ามกลางความเห็นแตกต่างกันไปของบรรดากูรูหุ้นรุ่นลูกๆหลานๆ ซึ่งมีตั้งแต่คำวิจารณ์เชิงปรามาสทำนอง “ซื้อเข้าไปได้!” จนถึงแนว bullish สุดๆเช่น Mike Mayo นักวิเคราะห์ของ Wells Fargo ที่เชื่อมั่นว่า “ตำนานนักลงทุน” ตัดสินใจถูกแล้ว และหุ้นกลุ่มแบงก์มีโอกาสพุ่งขึ้นถึง 50% ภายใน 18 – 24 เดือน ทั้งนี้ Berkshire Hathaway บริษัทที่ Buffett เป็น CEO คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของ BofA ด้วยสัดส่วนสูงเกือบ 12% (4 ส.ค.) และลงทุนหุ้นตัวนี้มากเป็นอันดับ 2 ในพอร์ต รองจาก Apple

KT-Ashares และ KT-WTAI ยังคงเป็น “ทีมบุก” รุกหาผลตอบแทนตามที่เพิ่งนำเสนอไว้ใน “ของมันต้องขึ้น” (2 ส.ค.) ส่วนเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง (hedge) ยุค new normal เราเลือก KTAM World Financial Services (KT-FINANCE) เน้นลงทุนในหน่วยของ Fidelity Funds – Global Financial Services Fund (Class A-EUR) (กองทุนหลัก) เพราะน่าจะ outperform ยืนเหนือ sector อื่นได้หากยีลด์พันธบัตร “เซอร์ไพรส์” ฟื้นตัว แถมกองทุนหลักลงทุนหุ้นกลุ่มบริการด้านการเงินทั่วโลกโดยคำนวณ nav เป็นยูโร จึงได้ประโยชน์หากดอลลาร์ (หรือสกุลอื่นๆในพอร์ต) แข็งค่าเทียบกับยูโร

ทั้งนี้ Financial Services ไม่ใช่แค่แบงก์แต่มีขอบเขตกว้างครอบคลุมหลายธุรกิจได้แก่ ประกัน ซึ่งมีความมั่นคงค่อนข้างสูง หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รับประโยชน์จากความผันผวนของตลาด ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง เกาะแนวโน้มสังคมสูงอายุ บริการเครดิต/ชำระเงิน หรือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่าง ฟินเทค เป็นต้น

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน