SAWAD-MTC ตื่นขายเกินเหตุ ยันชาร์จค่าทวงหนี้ถูก คิดดบ.ต่ำ

HoonSmart.com>>HoonSmart.com>>นักลงทุนถล่มหุ้นนอนแบงก์ ราคาดิ่งลงเหว 2-6% กังวลธปท.ลดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ถาวร จ้องคุมค่าติดตามทวงหนี้ซ้ำ ลงพื้นที่ห้ามคิดเกิน 500 บาท คาด SAWAD-MTC ไม่กระเทือน ตามเองไม่เอาต์ซอร์ส คิดค่าตามหนี้มอเตอร์ไซค์ 200 บาท รถยนต์ 500 บาท ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้คิดต่ำอยู่แล้ว กลุ่ม JMART ยันไม่กระทบ

วันที่ 5 ส.ค. 63 นักลงทุนพร้อมใจถล่มขายหุ้นนอนแบงก์ออกมาอย่างหนักหน่วง กดราคาหุ้น SAWAD ร่วง 6.06% ปิดที่ 46.50 บาท JMART ทรุด 4.57% ปิดที่ 14 บาท AEONTS ลบ 4.57% ปิดที่ 99.25 บาท MTC ลดลง 4.39% ปิดที่ 49 บาท และ KTC ลดลง 2.42% ปิดที่ 30.25 บาท สวนทางตลาดหุ้นโดยรวมที่บวกกว่า 6 จุด หรือ +0.49% ดัชนีปิดที่ 1,337.35 จุด

สาเหตุที่นักลงทุนทิ้งหุ้นนอนแบงก์รุนแรง เพราะความกังวลถึงผกระทบจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ที่มีขาวว่าจะประกาศมาตรการลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล-จำนำทะเบียน เป็นการถาวร เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 และยังจะควบคุมค่าทวงหนี้ ข้อมูลเบื้องต้นธปท.กำหนดไม่เกินเดือนละ 100 บาท และค่าลงพื้นที่ 500 บาท แต่ยังไม่มีข้อสรุป

นักวิเคราะห์กล่าวว่า บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) และบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ไม่ได้รับผลกระทบจากทั้ง 2 มาตรการ เพราะติดตามหนี้เอง ไม่ได้จ้างเอาต์ซอร์ส จึงค่าบริการไม่แพง กรณีตามหนี้มอเตอร์ไซค์คิดเพียง 200 บาท รถยนต์ 500 บาท ไม่ได้เกินกว่าที่ธปท.ต้องการควบคุมการลงพื้นที่ครั้งละ 500 บาท และค่าตามหนี้ 100 บาท/เดือน

อย่างไรก็ตามมาตรการคุมค่าติดตามหนี้ยังไม่มีข้อสรุป สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมอ้างว่า ธปท.กำหนดค่าทวงหนี้ 100 บาท ค่าลงพื้นที่ 500 บาท ไม่สมเหตุสมผลกับหนี้รถยนต์ หวั่นจ้างเอาต์ซอร์สยาก คนหนีหนี้มากขึ้น

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) มีมุมมองเป็นลบเล็กน้อย แม้มีแนวโน้มที่จะบังคับเร็วสุดในเดือน ต.ค. นี้ แต่การเจรจายังต้องมีการปรับปรุงเกณฑ์ให้เหมาะสม และผู้ประกอบการยอมรับได้

สำหรับมาตรการคุมค่าติดตามทวงหนี้นั้นจะส่งผลลบต่อรายได้ค่าธรรมเนียม จากเดิมที่บริษัทจะสามารถรับรู้รายได้ได้ประมาณ 100-200 บาทขึ้นไปต่องวด  ขณะที่ต้นทุนการติดตามหนี้ยังเท่าเดิมมีผลต่อผู้ประกอบการสินเชื่อมีหลักประกันสูงกว่าไม่มีหลักประกัน คาดว่าจะส่งผลลบต่อผู้ประกอบการจากมากไปน้อย ดังนี้ SAWAD, THANI, MTC, AEONTS และ KTC โดยคงคำแนะนำกลุ่ม “เท่ากับตลาด” และ top pick เป็น MTC แนะนำซื้อ ให้เป้าหมาย 63 บาท

บล.โนมูระ พัฒนสิน วิเคราะห์ว่า ความเสี่ยงของนโยบายธปท. ลดเพดานดอกเบี้ย เป็นการถาวรเริ่ม 1 ส.ค. 2563 และธนาคารออมสินจะเข้าสู่ธุรกิจจำนำทะเบีบนรถยนต์ในไตรมาสแรกปี 64 เป้าหมายลดดอกเบี้ยเหลือ 16-18% จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มนอนแบงก์และแบงก์ ยกเว้นกลุ่มบริหารหนี้ (AMC) ข่าวนี้เป็นจิตวิทยาลบและยังเป็น Noise ต่อกลุ่มจำนำทะเบียน คือ SAWAD และMTC

ด้านนายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท (JMART) เปิดเผยว่า ธุรกิจสินเชื่อของกลุ่มบริษัท ภายใต้การบริหารบริษัท เจ ฟินเทค และบริษัทซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ไม่ได้รับผลกระทบมาตรการให้ปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป 2-4% ต่อปี สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.63   เพราะฐานลูกค้าหลักเป็นผู้ที่มีรายได้สูง และคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำอยู่แล้ว โดยกลุ่มลูกค้าที่คิดดอกเบี้ยต่ำกว่า 25% มีสัดส่วนมากกว่า 70% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ปัจจุบันอยู่ที่ 3,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล

ส่วน SINGER ทำธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อน และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “รถทำเงิน” ไม่กระทบ เพราะคิดดอกเบี้ยไม่ถึง 24% ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ “รถทำเงิน” เป็น  2,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีสินเชื่อใหม่ 1,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็มีอัตราที่ต่ำกว่า 1%  หากปล่อยสินเชื่อได้ตามแผนจะทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมปีนี้อยู่ที่ ประมาณ 5,300 -5,400 ล้านบาท จากปีก่อนมีพอร์ตสินเชื่อรวม 3,600 ล้านบาท