HoonSmart.com>> “ทิสโก้เวลธ์” โชว์ฝีมือเลือกกองทุน ‘เมกะเทรนด์’ สร้างรีเทิร์น 30% ในระยะเวลา 1 ปี ปลื้มพาลูกค้ารอดวิกฤตหุ้นผันผวน- เศรษฐกิจขาลง พร้อมเดินเกมรุก เฟ้นหากองทุนที่มีนโยบายลงทุนในธุรกิจเติบโตสูง เพิ่มโอกาสสร้างความมั่งคั่งให้นักลงทุนในระยะยาว
นางวรสินี เศรษฐบุตร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ เปิดเผยว่า หลังจากช่วงต้นปี 2562 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย และมีโอกาสที่ราคาสินทรัพย์ทุกประเภทจะปรับตัวลงและผันผวน ทีมทิสโก้เวลธ์จึงเริ่มแนะนำให้จัดพอร์ตการลงทุนในรูปแบบใหม่ โดยเปลี่ยนคำแนะนำให้ลูกค้ากระจายการลงทุนในกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ‘เมกะเทรนด์’ แทนการจัดพอร์ตกระจายสินทรัพย์ (Asset Allocation) ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิม
โดยผลปรากฏว่า การจัดพอร์ตแบบใหม่ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หากลูกค้าเลือกลงทุนในกองทุนที่ทิสโก้เวลธ์แนะนำ จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนกว่า 30% ท่ามกลางความผันผวนของราคาสินทรัพย์ทั่วโลกและเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
“ทิสโก้เวลธ์มองว่าการจัดพอร์ตแบบกระจายหลากหลายสินทรัพย์ หรือลงทุนรายประเทศแบบเดิมๆ อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงเปลี่ยนคำแนะนำการจัดรูปแบบการจัดพอร์ตการลงทุนไปยังกองทุนที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนด์ของโลกแทน เพราะมองว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ‘เมกะเทรนด์’ มีโอกาสเติบโตได้ดีในทุกสภาวะเศรษฐกิจ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับลงทุนระยะยาว ประกอบกับมี COVID-19 เป็นตัวเร่งให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด ส่งผลให้กองทุนที่แนะนำให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ สามารถเพิ่มโอกาสให้ลูกค้ารอดพ้นจากภาวะการลงทุนที่ยากลำบาก ลูกค้าจึงให้การตอบรับเป็นอย่างดีและยังบอกต่อกันเองในกลุ่มนักลงทุน โดยปัจจุบันมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนเกินเป้าหมายทั้งปี 2563 ไปแล้ว ”นางวรสินีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ากองทุนที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนด์มีให้เลือกลงทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้ลูกค้าได้ลงทุนในกองทุนคุณภาพ ทิสโก้เวลธ์จึงต้องคัดเลือกและพิจารณาเจาะลึกถึงรายละเอียดของกองทุน เช่น บริษัทที่กองทุนเลือกลงทุน ประสบการณ์ผู้จัดการกองทุน สภาพคล่องของกองทุน และความเสี่ยง เป็นต้น
สำหรับกองทุนธีม ‘เมกะเทรนด์’ ที่ทิสโก้เวลธ์แนะนำให้นักลงทุนลงทุน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มเฮลธ์แคร์ 2. กลุ่มการศึกษาออนไลน์ และ 3. กลุ่มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งแต่ละกองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น และเกือบทั้งหมดสร้างผลตอบแทนเหนือดัชนีชี้วัด
กองทุนคุณภาพที่อยู่ในกลุ่มเฮลธ์แคร์มี 2 กองทุน คือ 1. กองทุนเปิด ทิสโก้ โกลบอล ดิจิตอล เฮลธ์ อิควิตี้ (TGHDIGI) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) เน้นลงทุนในบริษัทที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการแพทย์ (Digital Health) ทั่วโลก ผ่านกองทุน CS (Lux) Global Digital Health Equity ชนิดหน่วยลงทุน IB USD (กองทุนหลัก) มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนถึงปัจจุบัน ตามข้อมูลของมอร์นิ่งสตาร์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 34.05% 24.88% 30.38% ต่อปี และ 27.62% ต่อปี ตามลำดับ
ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ดัชนีชี้วัด (Benchmark) ของกองทุน ได้แก่ ค่าเฉลี่ยระหว่างผลการดำเนินงานของกองทุนรวมหลัก ปรับด้วยอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อคำนวณผลตอบแทนให้อยู่ในรูปสกุลเงินบาท ณ วันที่คำนวณผลตอบแทน ในสัดส่วน 95% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี วงเงินน้อยกว่า 5 ล้านบาท เฉลี่ยของ 3 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ หลังหักภาษี ในสัดส่วน 5% มีผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ที่ 14.56% 1.41% 13.87% ต่อปี และ 10.54% ต่อปีตามลำดับ
2. กองทุนเปิด ทิสโก้ ไบโอเทคโนโลยี เฮลธ์แคร์ (TBIOTECH) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) การวินิจฉัยโรค และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ทั่วโลกผ่านกองทุน Polar Capital Funds plc – Biotechnology (กองทุนหลัก) มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนถึงปัจจุบัน ตามข้อมูลของมอร์นิ่งสตาร์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 27.59% และ 47.80% ตามลำดับ
ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ดัชนีชี้วัดของกองทุน ซึ่งคำนวณจากค่าเฉลี่ยระหว่างผลการดำเนินงานของกองทุนรวมหลักปรับด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อคำนวณผลตอบแทนให้อยู่ในรูปสกุลเงินบาท ณ วันที่คำนวณผลตอบแทน ในสัดส่วน 95% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี วงเงินน้อยกว่า 5 ล้านบาท เฉลี่ยของ 3 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ หลังหักภาษีในสัดส่วน 5% พบว่า ดัชนีชี้วัดมีผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ที่ 26.90% และ 11.53% ตามลำดับ
ส่วนกองทุนคุณภาพที่อยู่ในกลุ่มการศึกษาออนไลน์ คือ กองทุนเปิด ยูไนเต็ดเอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี ฟันด์ (UEDTECH) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) เน้นลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ประกอบด้วยผู้ผลิตหรือจัดทำข้อมูลด้านการศึกษา แพลทฟอร์มและการนำเสอนข้อมูล รวมไปถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านกองทุน Credit Suisse (Lux) Edutainment Equity Fund – Class IBP USD เพียงกองเดียว มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนถึงปัจจุบัน ตามข้อมูลของมอร์นิ่งสตาร์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 6.90% ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันดัชนีชี้วัดของกองทุน ซึ่งได้แก่ ดัชนี MSCI World ESG Leaders (NR) ซึ่งเป็นดัชนีเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนหลัก ปรับด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเทียบค่าสกุลเงินบาท ณ วันที่คำนวนผลตอบแทน สัดส่วน 100% อยู่ที่ 4.62%
กองทุนคุณภาพที่อยู่ในกลุ่มอีคอมเมิร์ซ คือ กองทุนเปิด วรรณ โกบอล อีคอมเมิร์ซ (ONE-GECOM) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้น และ/หรือกองทุนรวม ETF ทั่วโลกที่ลงทุนในกิจการที่มีรายได้หรือได้รับประโยชน์จากช่องทางจำหน่ายผ่านออนไลน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนถึงปัจจุบัน ตามข้อมูลของมอร์นิ่งสตาร์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 57.45% 38.31% 44.38% ต่อปี และ 35.00% ต่อปี ตามลำดับ
ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันดัชนีชี้วัดของกองทุน คือ อัตราผลตอบแทนของดัชนี EQM Online Retail ปรับด้วยต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อคำนวณผลตอบแทนเป็นสกุลเงินบาท ณ วันที่ลงทุน ตามสัดส่วนการทำ hedging ประมาณ 90% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และอัตราผลตอบแทนของดัชนี EQM Online Retail ปรับด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเทียบกับค่าสกุลเงินบาท ณ วันที่คำนวณผลตอบแทน ตามสัดส่วนที่ไม่ได้ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 10% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนอยู่ที่ 69.53% 36.87% 42.55% ต่อปี และ 25.58% ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุน TGHDIGI และ TBIOTECH ลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก กองทุนTGHDIGI TBIOTECH และ UEDTECH อาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งกองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจผู้จัดการกองทุน ส่วนกองทุน ONE-GECOM ป้องกันความเสี่ยงบางส่วน (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ)