HoonSmart.com>> Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า มาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” กระตุ้นท่องเที่ยว 3.6-6.2 หมื่นล้านบาท แม้รายได้ท่องเที่ยวจากผู้ใช้สิทธิ ไม่สามารถชดเชยรายได้ต่างชาติที่หายไปในเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ อย่าง กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ได้ แต่ชดเชยรายได้ต่างชาติที่หายไปในจังหวัดที่คนไทยนิยมท่องเที่ยว และมีรายได้จากต่างชาติไม่มากได้ อย่าง นครราชสีมา เพชรบุรี
Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) โดยนายกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ และน.ส.จารุวรรณ เหล่าสัมฤทธิ์ วิเคราะห์ “เราเที่ยวด้วยกัน” สามารถกระตุ้นรายได้ท่องเที่ยวได้ 3.6-6.2 หมื่นล้านบาท โดยประเมินเม็ดเงินท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายใต้โครงการ“เราเที่ยวด้วยกัน” โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 – Base Case คนใช้จ่ายค่าที่พักตามปกติ : Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากไม่รวมค่าใช้จ่ายของการเดินทางด้วยเครื่องบิน ผลของมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจบริการท่องเที่ยวมูลค่าประมาณ 3.55 หมื่นล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านที่พักที่มูลค่า 1.13 หมื่นล้านบาท
กรณีที่ 2 –Best Case คนจ่ายค่าที่พักแพงสุดเท่าที่จะได้รับส่วนลดจากมาตรการ (ต้องจ่ายค่าห้องพัก 7,500 ต่อคืน จึงจะได้ส่วนลดเต็มอัตราที่ 3,000 บาทต่อคืน) : ในกรณีนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากไม่รวมค่าใช้จ่ายของการเดินทางด้วยเครื่องบิน ผลของมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจบริการท่องเที่ยวมูลค่าประมาณ 6.17 หมื่นล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านที่พักที่มูลค่า 3.75 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตามแม้ภาพรวมจะกระตุ้นการท่องเที่ยวไม่ได้มาก แต่ก็ทำให้การท่องเที่ยวบางจังหวัดฟื้นตัวได้ โดยภาพรวมจะชดเชยรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้เพียง 3.7-6.4% แม้ประเมินว่ามาตรการอุดหนุนการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 3.6-6.2 หมื่นล้านบาท แต่หากเทียบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะหายไปกว่า 9.5 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งปีหลัง ก็จะเห็นได้ว่ามาตรการของรัฐสามารถชดเชยรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้เพียง 3.7-6.4% เท่านั้น
แม้เป็นจังหวัดที่คนไทยจะนิยมไป แต่หากมีรายได้จาก นทท.ต่างชาติเป็นหลัก “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็สามารถทดแทนรายได้ที่หายไปได้เพียงเล็กน้อย จากผลสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยปี 2562 แสดงถึงจังหวัดท่องเที่ยวที่คนไทยไปพักแรม 10 อันดับแรก ซึ่งน่าจะเป็นจังหวัดที่คนไปเที่ยวโดยใช้สิทธิจาก “เราเที่ยวด้วยกัน” เช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนไทยจะไปเที่ยวจังหวัดดังกล่าวเพิ่มขึ้น แต่หากรายได้หลักของการท่องเที่ยวจังหวัดนั้น คือ ชาวต่างชาติ เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ เป็นต้น รายได้จากคนไทยก็ทดแทนรายได้จากต่างชาติที่หายไปได้ไม่มากนัก
ตัวอย่างจังหวัดในกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ (กลุ่มจังหวัดที่ 1 ในรูปที่ 5) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในสัดส่วนที่สูงถึง 40-89% แม้คนไทยที่ได้รับสิทธิจาก “เราเที่ยวด้วยกัน” จะไปเที่ยวจังหวัดเหล่านี้ตามผลสำรวจ แต่ก็ชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้เพียง 0.5-9% เท่านั้น (รูปที่ 7) ส่วนกลุ่มจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยไม่ได้นิยมไปอย่างเช่น กระบี่ พังงา “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็ไม่น่าจะชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปจำนวนมากได้เช่นกัน
แต่ “เราเที่ยวด้วยกัน” สามารถชดเชยรายได้จากต่างชาติที่หายไปได้ ในจังหวัดท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมไป เช่น กาญจนบุรี นครราชสีมา เพชรบุรี เป็นต้น โดยจังหวัดดังกล่าวเป็นจังหวัดที่คนไทยนิยมไปท่องเที่ยว และมีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 3-15% เท่านั้น (ดูรูปที่ 6) Krungthai COMPASS ประเมินว่าผู้ที่ไปเที่ยวจังหวัดดังกล่าวจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะสามารถชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้กว่า 30% หรือทดแทนได้ทั้งหมด อย่างในกรณีของจังหวัดนครราชสีมาและเพชรบุรี ในขณะที่จังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 14-33% ได้แก่ อยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง นักท่องเที่ยวจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน น่าจะชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้ที่ราว 11.5-64.0%
อย่างไรก็ตาม แม้ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะไม่สามารถชดเชยรายได้ท่องเที่ยวจากต่างชาติที่หายไปได้ แต่ก็ทำให้ภาคท่องเที่ยวมีรายรับเพิ่มขึ้นบ้าง และทำให้บางจังหวัดกลับมาคึกคักเหมือนเดิมได้ ซึ่งรายรับที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีมาตรการ อาจพอทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวสามารถอยู่รอดได้นานขึ้น จนถึงเวลาที่ต่างชาติสามารถกลับมาเที่ยวไทยได้ ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องติดตามต่อไปว่าในช่วงที่มีมาตรการ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวจังหวัดไหนจะกลับมาเร็วเป็นพิเศษ ซึ่งการใช้ High-Frequency Indicators ต่างๆ เช่น Mobility Trends Report จาก Apple ก็สามารถช่วยให้เราติดตามสถานการณ์ได้ทันเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น