ศูนย์วิจัยกสิกรคาด GDP จีนครึ่งปีหลังดีขึ้น มองทั้งปี 63 โต 1.0-3.0% ต่อปี

HoonSmart.com>> “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดเศรษฐกิจจีนครึ่งปีหลัง 63 ดีกว่าครึ่งปีแรกหดตัว 1.8% ภาคการบริโภคเอกชนหนุน ขณะที่ส่งออกยังเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก คาดทั้งปีจีดีพีโต 1.0% – 3.0% ต่อปี หลังควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ผลช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนไตรมาส 2/63 ขยายตัวดีกว่าคาดที่ 3.2% เมื่อเทียบงวดปีก่อน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 2/2563 พลิกกลับมาขยายตัว 3.2% เมื่อเทียบงวดปีก่อน อันเป็นผลจากที่ทางการจีนสามารถรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งช่วยให้ระยะเวลาของการระบาดเป็นวงกว้างที่เกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 1/2563 สิ้นสุดได้อย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทางการจีนตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในหลายพื้นที่ของประเทศในช่วงต้นเดือน พ.ค. 2563 จนส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินเป็นปกติได้มากขึ้น

ภาคการผลิตของจีนเริ่มกลับมาดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสที่ 2/2563 ภายหลังมาตรการผ่อนคลายการปิดเมือง สะท้อนได้จากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ร้อยละ 4.8 (YoY) ในเดือนมิ.ย. 2563 จากที่ติดลบถึงร้อยละ 8.4 (YTD, YoY) ในไตรมาสที่ 1/2563 อย่างไรก็ดี อัตราการใช้กำลังการผลิต (Industrial Capacity Utilization) ในไตรมาสที่ 2/2563 อยู่ที่ร้อยละ 74.4 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งปี 2562 ที่ร้อยละ 76.5 บ่งชี้ว่า การฟื้นตัวของกิจกรรมภาคการผลิตของจีนยังไม่กลับไปสู่ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้โดยเฉลี่ยถึงราวร้อยละ 7.0 (ค่าเฉลี่ยปี 2562)

ภาพรวมการส่งออกของจีนในไตรมาสที่ 2/2563 พลิกกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยร้อยละ 0.14 (YoY) จากที่ติดลบถึงร้อยละ 13.4 (YoY) ในไตรมาสที่ 1/2563 โดยได้อานิสงส์จากปัจจัยชั่วคราวจากการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางแพทย์ที่ขยายตัวสูง อาทิ อุปกรณ์วัดไข้ (HS code: 902519) ขยายตัวร้อยละ 482 (YoY) หรือผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัย (ส่วนหนึ่งของ HS code: 630790) ขยายตัวถึงร้อยละ 2,400 (YoY) ในช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค. 2563

ภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคภาคเอกชน ถึงแม้ยังไม่สามารถพลิกกลับมาขยายตัวแต่อยู่ในทิศทางที่กระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนได้จากอัตราการขยายตัวของตัวเลขค้าปลีกที่ติดลบน้อยลงเหลือร้อยละ 1.8 (YoY) ในเดือนมิ.ย. 2563 จากที่ติดลบถึงร้อยละ 19.64 (YTD, YoY) ในไตรมาสที่ 1/2563

ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 คาดว่าจะฉายภาพที่ดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยมีแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่กระเตื้องขึ้นจากมาตรการผ่อนปรนของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ (บนสมมติฐานที่ว่าจีนยังอาจยังเผชิญการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นระลอกในบางมณฑล แต่จะไม่กลับไประบาดเป็นวงกว้างเหมือนดังในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. 2563 ซึ่งทำให้ไม่นำไปสู่มาตรการปิดเมืองพร้อมกันในหลายมณฑล)

การบริโภคภาคเอกชนจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวจากช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากมาตรการผ่อนปรนของภาครัฐที่ให้บริษัทนำเที่ยวสามารถกลับมาจำหน่ายแพ็คเกจท่องเที่ยวภายในประเทศได้อีกครั้งซึ่งจะมีส่วนช่วยการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวของจีนกว่า 28 ล้านคน อาทิ ธุรกิจที่พักและโรงแรม

ขณะที่ทิศทางการส่งออกของจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่แน่ชัด แม้ในช่วงไตรมาสที่ 2/2563 ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของจีนอย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) และมูลค่าการนำเข้าสินค้าขั้นกลางในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดือน มิ.ย. 2563 จะปรับตัวดีขึ้น แต่ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากคลายล็อคมาตรการปิดเมือง (Lock down) ของทางการจีนสวนทางกับหลายประเทศอื่นที่ยังคงมาตรการปิดเมืองจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้กิจกรรมการผลิตเพื่อส่งออกของจีนกลับมาดำเนินการตามปกติ ประกอบกับได้อานิสงส์จากมาตรการทำงานที่บ้าน (Work from home) ของหลายประเทศทั่วโลกซึ่งช่วยหนุนความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายจากจีนในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกสินค้าของจีนในช่วงครี่งหลังของปี 2563 ยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง ท่ามกลางอุปสงค์โลกที่ยังคงอ่อนแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่หดตัว 1.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจีน จากอานิสงส์ของมาตรการภาครัฐ ในขณะที่ภาคการส่งออกยังเผชิญความท้าทายจากความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นของเศรษฐกิจโลก

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจจีนปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองต่อภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปี 2563 อยู่ในช่วง 1.0% – 3.0% ต่อปี ภายใต้หลายประเด็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจีนที่ยังคงต้องติดตามในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกที่ยังรุนแรงและอาจซ้ำเติมภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก หรือความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดจากความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในด้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่ทางการจีนบังคับใช้ในฮ่องกง ซึ่งอาจส่งผลต่อความเข้มข้นของมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของจีน