HoonSmart.com>>บลจ.บัวหลวง คาดกำไรกลุ่มแบงก์ปี 63 เหลือ 1.2 แสนล้านบาท ลดลง 45% คาด NPL เพิ่มขึ้น 4% ปีหน้าแตะ 5% ตั้งสำรองสูงถึง 50% บล.ยูบีเอส มองกำไรแบงก์ครึ่งปีหลังแย่กว่าครึ่งแรก แต่ราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยลบแล้ว มีโอกาสปรับเพิ่มมากกว่าลดลง น่าสนใจ เทียบกับภูมิภาค ส่วน FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนดีขึ้น กลุ่มอาหาร-เครื่องดื่มเด่นที่สุด แบงก์ไม่น่าสน
นายเจฟ สุธีโสภณ ผู้จัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง เปิดเผยว่า บริษัทได้ประมาณการกำไรกลุ่มแบงก์ปี 2563 เพียง 120,000 ล้านบาท ลดลงประมาณ 45% การตั้งสำรองจะสูงถึงประมาณ 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะเพิ่มขึ้น 4% และมีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 5% ในปี 2564 จากเดิมประมาณไว้ 3.9% ภาพรวมในปีนี้ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งอาจจะกระทบถึงปี 64
ส่วนธุรกิจธนาคารได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมีผลต่ออุตสาหกรรมที่ส่งออก 70% อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องประมาณ 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่ง 1 ใน 5 ของคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องนั้น เกิดภาวะการว่างงาน ทำให้เกิดมีโอกาสเป็นหนี้เสีย ส่วนสินเชื่อเพิ่มขึ้นถึง 4% ในช่วงวิกฤตที่ต้องการเงินสดเพื่อหมุนเวียน แต่ตัวเลขของพักชำระหนี้สูงถึง 6.8 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 37% ของสินเชื่อทั้งระบบ การยื่นพักชำระหนี้เพื่อไม่ให้มีหนี้เสียเข้ามามาก ในช่วงไตรมาส 2/63 แต่ทำให้ไม่มีกระแสเงินสดเข้ามา บันทึกเป็นรายได้ ในอนาคตหากไม่ได้รับเงินเข้ามาจริง จะกระทบต่ออัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) ของกลุ่มแบงก์แน่นอน
สำหรับการลงทุนในกลุ่มแบงก์ ราคาหุ้นต่ำมากๆ และการอัดฉีดสภาพคล่องทั่วโลก รวมถึงอัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำน่าจะเห็นการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนมาในตลาดหุ้น ซึ่งกลุ่มแบงก์น่าซื้อลงทุนในระยะยาว 2-3 ปี
ด้านนายวรวัฒน์ สายสุพัฒน์ผล กรรมการบริหาร บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มกลุ่มแบงก์ในช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้น แต่กำไรยังไม่ฟื้นตัวเร็ว เพราะภาคท่องเที่ยว และส่งออก ยังชะลอตัว รวมถึงหนี้เสียที่ยังคงไหลเข้ามาต่อเนื่อง คาดกำไรครึ่งปีหลัง จะแย่กว่าครึ่งปีแรก จากการตั้งสำรองสูง อาจจะกระทบถึงปี 64
ส่วนหุ้นแบงก์ตามการศึกษาของ บล.ยูบีเอส นั้น จะปรับขึ้นก่อนจุดแย่ที่สุดของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประมาณ 1-2 ไตรมาส และปรับขึ้นก่อน 3-4 ไตรมาสก่อนหนี้เสียจะลงต่ำสุด ดังนั้นหุ้นมีโอกาสปรับขึ้นก่อนเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น ราคาหุ้นแบงก์ของไทยลดลงต่ำสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาค และนักวิเคราะห์ได้ปรับลดประมาณการลงมาแล้ว ถ้าวัคซีนมาเร็ว ทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสปรับเพิ่มมากกว่าปรับลด
นายวรวัฒน์กล่าวว่า การงดการจ่ายปันผลระหว่างกาลของกลุ่มแบงก์ เพื่อให้แบงก์สามารถประเมินผลกระทบต่างๆ อย่างรอบคอบ ซึ่งถ้า CAR Ratio ยังเกินอยู่ ก็สามารถพิจารณาจ่ายปันผลปลายปีได้ คาดอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ปีนี้อยู่ประมาณ 5-6% แต่ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า จะปรับขึ้นได้ประมาณ 6-8% แม้จะไม่สูง แต่ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดภูมิภาค
ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่าการคล้ายล็อกดาวน์ประเทศผ่านไปแล้ว ต้องดูการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งกังวลเรื่องการจ้างงาน จะเกิดเป็นหนี้เสีย ส่งผลต่อกลุ่มแบงก์ โดยต้องติดตามงบภาครัฐ 400,000 ล้านบาท ว่าจะส่งผลอย่างไรต่อการจ้างงาน
ส่วนดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.19 เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจ หนุนตลาด และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยฉุด รวมถึงให้กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ และให้กลุ่มแบงก์เป็นกลุ่มที่ไม่น่าสนใจ