ANAN กัดฟัน จ่ายดบ.เพิ่มเป็น 9.5% ขายหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ แทนชุดเดิมครบ 5 ปี

HoonSmart.com>>อนันดาฯ เสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ 1,000 ล้านบาท แบกต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มปีละ 50 ล้านบาท ก่อนหน้านี้แสนสิริระดม 3,000 ล้านบาท 5 ปี จ่ายดอกเบี้ย 8.50%ต่อปี ด้าน สิงห์ เอสเตท ยอมรับโควิดกระทบหนัก ปีนี้รายได้วืดเป้า 2 หมื่นล้านบาท เบรกลงทุนระยะสั้น รักษาสภาพคล่อง รื้อแผนงาน 5 ปี บล.ทิสโก้จัดโรดโชว์อสังหาฯให้สถาบัน เชียร์ AP ให้เป้า 6.50 บาท, LH 10.60 บาท และ QH 3.10 บาท ตลาดหุันดีดกลับ 10 จุด แรงซื้อหุ้นอสังหาฯเข้าปลายตลาด นำโดยแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

นายชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ผู้นำในตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการยื่นข้อมูลขอเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Perpetual Bond) ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อัตราผลตอบแทน 5 ปีแรกอยู่ที่ 9.50% ต่อปี คาดว่าจะเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ วันที่ 3-6 ส.ค.นี้ ผ่านสถาบันการเงิน 5 แห่ง

หุ้นกู้ฯ ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง ที่ระดับ BB+ ขณะที่อันดับเครดิตองค์กรอยู่ที่BBB แนวโน้ม “ลบ” เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2563

วัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อนำเงินไปชำระคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ที่บริษัทฯ ออกเสนอขายไปเมื่อเดือนส.ค. 2558 อัตราดอกเบี้ย 5 ปีแรกอยู่ที่ 9.00% ต่อปี ซึ่งบริษัทฯ สามารถใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดเมื่อครบกำหนด 5 ปี ในเดือนส.ค. 2563 นี้ หากบริษัทฯ ไม่ไถ่ถอนหุ้นกู้ฯ ชุดเดิม ในด้านสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หุ้นกู้ชุดดังกล่าวจะไม่ถูกบันทึกเป็นทุนอีกต่อไป

“บริษัทฯ มั่นใจว่า การเสนอขายหุ้นกู้ฯ ในครั้งนี้ จะได้รับความสนใจเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ลงทุนสถาบันที่ต้องการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง ขณะเดียวกัน บริษัทฯยังมีความมั่นคงทางด้านการเงิน จากความมุ่งมั่นที่จะรักษาวินัยทางการเงินอย่างเข้มงวด โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุน ณ วันที่ 31 มี.ค. 2563 อยู่ที่ระดับ 1.07 เท่า และมีเป้าหมายระยะยาวที่จะดำรงอัตราส่วนดังกล่าวให้อยู่ที่ระดับ 1 เท่า พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังมีการสำรองเงินสดอยู่ในระดับสูงและแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย” นาย ชัยยุทธ กล่าว

จากข้อมูลของทริสเรทติ้ง ระบุว่า บริษัทฯ มียอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 2.94 หมื่นล้านบาท (รวมโครงการร่วมทุน)โดยบริษัทฯ จะส่งมอบยอดขายรอการรับรู้รายได้ในโครงการร่วมทุนให้แก่ลูกค้าในช่วงที่เหลือของปี 2563-2565 ทั้งนี้ เมื่อเดือนเม.ย. ANAN ประสบความสำเร็จในการขายหุ้นกู้ 2 รุ่น อายุ 2 ปี 6 เดือน ดอกเบี้ย 4.00%ต่อปี และอายุ 3 ปี 6 เดือน 4.50% รวมมูลค่า 1,169.90 ล้านบาท

นายชัยยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมาก โดยเฉพาะยอดขายและยอดโอน มีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ค.-มิ.ย. ที่ยอดการเข้าเยี่ยมชมโครงการของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 300-400 คนต่อวัน จากช่วงก่อนหน้าที่ 100 คนต่อวัน สะท้อนว่ากลุ่มลูกค้ากลับมาให้ความสนใจซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้ปรับกลยุทธ์การตลาดและเพิ่มการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี และสามารถสร้างยอดขายได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันบริษัทมียอดขาย 7,500 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 50% ของเป้าหมายทั้งปี 1.66 หมื่นล้านบาท  แนวโน้มยอดขายไตรมาส 2 ค่อนข้างดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะเดือนเม.ย.-พ.ค. ที่ทำยอดขายสูงถึง 3,000 ล้านบาท ส่วนรายได้ในครึ่งปีหลัง คาดว่าจะสูงกว่าครึ่งปีแรก จะมีการโอนคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จใหม่ทั้งหมด 5 โครงการ ในไตรมาส 3 มีจำนวน 4 โครงการ และไตรมาส 4 จะเริ่มทยอยโอนโครงการ Elio Sathorn-Wutthakat

ในช่วงนี้  บริษัทหันมาสนใจออกและเสนอขาย Perpetual Bond มากขึ้น นอกจาก อนันดาฯที่ออกเพื่อทดแทนชุดเดิมเมื่อครบ 5 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 22 -25 มิ.ย. 2563 บริษัทแสนสิริ ได้เสนอขายหุ้นกู้ ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯมูลค่า 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 8.5% ต่อปี สำหรับ 5 ปีแรก ทั้งนี้ จ่ายผลตอบแทนต่ำกว่าอนันดาฯเพราะ อันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทอยู่ที่ BBB+/Negative และอันดับความเชื่อถือของหุ้นกู้อยู่ที่ BBB- จัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2563     และคาดว่ายังมีบริษัทอีกหลายแห่งสนใจที่จะออกด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนชุดเดิมที่จะครบอายุ 5 ปีไม่สามารถนำส่วนหนึ่งเป็นทุนได้ ณ สิ้นปี 2562 มียอดระดมทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท   เช่น MINT มูลค่า 15,000 ล้านบาท  PF มูลค่า 508 ล้านบาท ดอกเบี้ย 9.50% ใน 5 ปีแรก

ด้านนายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสิงห์ เอสเตท (S) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 มีผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมของ บริษัทลูก คือเอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท (SHR) ปิดโรงแรมในเครือทั้งหมดมาตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นมา รายได้หายไปมาก โดย ธุรกิจโรงแรมยังมีสัดส่วนต่อรายได้รวมมากถึง 54% และการขายโครงการคอนโดมิเนียมถือว่าพลาดเป้าไปค่อนข้างมาก ทำให้รายได้รวมของบริษัทในปีนี้ ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทเตรียมทบทวนแผนงานในช่วง 5 ปี (2563-2567) จากที่ตั้งเป้าว่ารายได้จะเติบโตถึง 3 หมื่นล้านบาทภายในปี 2567 ภายใต้งบลงทุนรวม กว่า 6.8 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการขยายธุรกิจที่มีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก รวมถึงแผนการลงทุนในระยะสั้นจำเป็นต้องชะลอออกไปก่อน และเน้นการบริหารและรักษาสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่ดี

อย่างไรก็ตามบริษัทได้เลื่อนการขายอาคารสำนักงาน Metropolis Bangkok พื้นที่ 13,300 ตารางเมตร เข้ากองทรัสต์ SPRIME ไปเป็นปี 2564 จากกำหนดเดิมปลายปีนี้ เนื่องจากต้องปรับปรุงอาคารบางส่วนให้ดีขึ้น

บล.ทิสโก้ออกบทวิเคราะห์หุ้นอสังหาริมทรัพย์ กระแสตอบรับจากโรดโชว์นักลงทุนสถาบัน พบว่า โครงการประเภท Low-rise เป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมในช่วงของโควิด-19 ส่วนคอนโดมิเนียมมียอดจองเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน พ.ค. เชื่อว่ามาจากการเปิดตัวที่ต่ำ และยังได้มีการพูดคุยในกลุ่มของหุ้นที่แนะนำคือ LH, QH และ AP ในประเด็นของราคาหุ้น และงานในมือที่จะหนุนผลประกอบการในอนาคต ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่เห็นด้วย

“เราแนะนำให้ “ซื้อ” AP (มูลค่าที่เหมาะสม 6.50 บาท), LH (10.60 บาท) และ QH (3.10 บาท) เนื่องจากการเปิดตัวโครงการที่ดีขึ้นและงานในมือที่สูง โดยใช้ P/E ย้อนหลัง 5 ปี -1Std แต่มีความเสี่ยงคือ การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น, การปฏิเสธสินเชื่อของธนาคาร และปัญหาด้านสภาพคล่อง”บล.ทิสโก้ระบุ

สำหรับยอดจองของโครงการ Low-rise ในเดือน พ.ค. – มิ.ย. มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ต่อเนื่องจากเดือน เม.ย. แม้ว่ายอดจองและการรับรู้รายได้จะเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าอัตรากำไรจะลดลงจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของคอนโด ยอดจองในช่วง 5 เดือนแรกคิดเป็น 36% จากประมาณการทั้งปี และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี แต่มองว่าจะกระทบไม่มากนักเนื่องจากการเปิดตัวโครงการที่ต่ำ

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 2 แสนบาทสำหรับผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อที่อยู่อาศัยและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ให้เหลือ 0.01% จะช่วยลดภาระให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย นับเป็นข่าวดีกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ แต่การลงทุนอสังหาและการซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ ยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวังและรอบคอบ

ด้านตลาดหุ้นวันที่ 1 ก.ค. เช้าเปิดบวกตามตลาดต่างประเทศ หลังจากนั้นเคลื่อนไหวช่วงแคบๆ ก่อนมีแรงซื้อโหมเข้ามาช่วงท้ายตลาด ดันดัชนีปิดที่ระดับ 1,349.44 จุด +10.41 จุด หรือ +0.78% มูลค่าการซื้อขาย 53,380.74 ล้านบาท จากฝีมือสถาบันซื้อ 2,232 ล้านบาท สวนทางต่างชาติขายต่อ 2,306.4 ล้านบาท มีแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ เช่น PTTEP ปิดที่ 95.50 บาท +3.75 บาทหรือ +4.09% และหุ้น LH  ปิดที่ 7.80 บาท +0.20 บาท หรือ+2.63%