บลจ.กสิกรไทย มองดอกเบี้ยไทยทรงตัว ปันผล ABFTH อัตรา 2 บาท/หน่วย

บลจ.กสิกรไทย มองตราสารหนี้ครึ่งปีหลังยังผันผวน ส่วนดอกเบี้ยคาดทรงตัว 1.5% ปีนี้ เดินหน้าจ่ายปันผลกองทุน ABFTH หน่วยละ 2 บาท ถึงมือนักลงทุน 25 มิ.ย. นี้ มูลค่ากว่า 15 ล้านบาท

นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทย เตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ (ABFTH) สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2560 – 31 พ.ค.2561 โดยจ่ายเงินปันผลในอัตรา 2.00 บาทต่อหน่วย มูลค่าการจ่ายเงินปันผลรวม 15.75 ล้านบาท โดยจะจ่ายให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่อในสมุดทะเบียน ณ วันที่ 15 มิ.ย.2561 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 มิ.ย.2561

“สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนที่ผ่านมา กองทุนสามารถสร้างผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2549 โดยกองทุนมีการจ่ายเงินปันผลไปแล้ว 25 ครั้ง รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 420.73 บาทต่อหน่วย ส่วนในรอบผลการดำเนินงาน 6 ที่ผ่านมา (1 ธ.ค.2560 – 31 พ.ค.2561) กองทุนให้ผลตอบแทนอยู่ที่ -0.79% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ -0.67% ส่วนผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 2.67% ต่อปี ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 2.86% ต่อปี (ข้อมูล ณ 31 พ.ค.2561) ” นายชัชชัยกล่าว

สำหรับจุดเด่นของกองทุน ABFTH คือ เป็นกองทุนรวม ETF กองทุนแรกของไทยที่มีการลงทุนโดยอ้างอิงกับดัชนีตราสารหนี้ภาครัฐ (iBoxx ABFTH Index) โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลไทย หรือออกโดยภาครัฐที่มีรัฐบาลไทยเป็นผู้ค้ำประกัน หรือได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) จากสถาบันจัดอันดับที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จึงมีความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงเนื่องจากกองทุนมีอายุเฉลี่ยของตราสาร (Portfolio Duration) ยาวกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว และต้องการบริหาร Portfolio Duration ที่มีระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 6-7 ปี เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น โดยปัจจุบันกองทุนมีขนาดประมาณ 9,500 ล้านบาท และจดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

นายชัชชัย กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่ต้นปีตราสารหนี้ไทยค่อนข้างมีความผันผวน โดยปัจจัยหลักมาจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2561 สหรัฐฯ มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 12-13 มิ.ย.ที่ผ่านมา และตลาดคาดการณ์ว่าน่าจะยังมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ ประกอบกับประเด็นความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน กดดันค่าเงินในภูมิภาคเอเชียให้อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งปีหลัง นายชัชชัยกล่าวว่า ความผันผวนต่อตลาดตราสารหนี้ไทยคาดว่ายังอยู่ในระดับสูง จากทั้งปัจจัยเรื่องจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่เร็วขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงความกังวลของตลาดจากการตอบโต้เรื่องการเก็บภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานมากนัก เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมีภาคการส่งออกและท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง สถานะความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารไทยยังไม่น่าเป็นห่วง ทุนสำรองยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะยังทรงตัวที่ 1.5% ถึงสิ้นปี