TRUE จ่อขายหุ้นกู้ 2.5 หมื่นลบ. ทริสคงเครดิต BBB+

HoonSmart.com>>”ทรู คอร์ปอเรชั่น” เตรียมขายหุ้นกู้ 2 หมื่นล้านบาท และสำรองอีก 5,000 ล้านบาท ใช้ชำระหนี้ เป็นเงินหมุนเวียน ทริสฯมองธุรกิจแข็งแกร่งในฐานะผู้นำบริการโทรคมนาคมครบวงจรในประเทศไทย ผลประกอบการน่าพอใจ ผู้ถือหุ้นใหญ่หนุนเต็มที่ แต่ภาระหนี้สูง การแข่งขันรุนแรง คาดหุ้นกู้ได้รับความสนใจ  เมื่อต้นเดือนมิ.ย. CPF ประสบความสำเร็จในการขายหุ้นกู้มูลค่า 25,000 ล้านบาท

บริษัท ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท และหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) วงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่ระดับ “BBB+/คงที่ ”โดยบริษัทจะนำเงินไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ยืมและ/หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท

ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทรู ฯ ที่ระดับ “BBB+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่”

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรในประเทศไทย ตลอดจนความแข็งแกร่งทางการตลาดของธุรกิจหลัก และผลประกอบที่น่าพอใจ นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ คือเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพีและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีปัจจัยลดทอนจากภาระหนี้สินทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงของบริษัทและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลัก ในขณะเดียวกัน ยังพิจารณารวมถึงเงินลงทุนจำนวนมากที่บริษัทต้องใช้ในการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และใช้ชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ด้วย

ในปี 2563 ทริสฯคาดว่ารายได้จากซิมท่องเที่ยวและรายได้บริการข้ามแดนอัตโนมัติของ “ทรูมูฟ เอช” ลดลงตามการห้ามเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  และยังคาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรทัศน์ระบบเคเบิ้ลของ “ทรูวิชั่นส์” จะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งอีกด้วย เนื่องจากโรงแรมหลายแห่งที่เป็นลูกค้าต้องปิดดำเนินการชั่วคราว แต่ในทางตรงกันข้าม คาดว่ารายได้จากการให้บริการสื่อสารข้อมูลทางโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเติบโตจากความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลที่สูงขึ้น จากมาตรการในการขอความร่วมมือทำงานจากบ้านของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะมีจำนวนผู้ใช้บริการในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ผลการดำเนินงานของ TRUE ในไตรมาสแรกของปี 2563 สอดคล้องกับประมาณการของทริสฯ บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 3.54 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการให้บริการจำนวน 2.66 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3%  จากการเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสำคัญ ในขณะที่รายได้จากการให้บริการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกลดลง แต่ต้นทุนที่เกี่ยวข้องก็ลดลงตามไปด้วย

ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งดำเนินงานโดยทรูมูฟ เอช ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง  ณ เดือนมี.ค.2563 มีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 30.3 ล้านราย มีรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย 2.01 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5%  ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 1.6% ทั้งนี้ ทรูมูฟ เอช ยังคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งไว้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับสองของประเทศ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 30.6%

นอกจากนี้ บริษัทยังคงสถานะผู้นำในธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทยอีกเช่นกัน รายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2% รายได้จากธุรกิจให้บริการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกลดลง 7% จากค่าสมาชิกตอบรับ รายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวกับกิจกรรมด้านบันเทิง และรายได้โฆษณา

ในไตรมาสแรก บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(อีบิทดา)อยู่ที่ 1.37 หมื่นล้านบาท  เพิ่มขึ้นจาก 9.7 พันล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ 1.16 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาระหนี้สินทางการเงินจำนวนมากลงได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีข้อจำกัดจากการมีความเสี่ยงทางการเงินจากการลงทุนในระดับสูง ณ เดือนมี.ค.  บริษัทมีหนี้สินปรับปรุงสุทธิอยู่ที่ 3.83 แสนล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อโครงสร้างเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 82% จากระดับ 72% เมื่อปลายปี 2562 จากรายการปรับปรุงและการจัดประเภทรายการใหม่หลังการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS16) ในขณะที่บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่ออีบิทดาอยู่ที่ระดับ 8.4 เท่าและมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 7%

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนมิ.ย. 2563 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF) ประสบความสำเร็จในการขายหุ้นกู้ มูลค่า 25,000 ล้านบาท มีความต้องการจองซื้อล้น เพราะความเชื่อมั่นของนักลงทุนและอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่ระดับ A+ ซึ่งจัดอันดับโดยบริษัท ทริสเรทติ้ง