HoonSmart.com>> ทิสโก้เวลธ์ชี้ ‘นวัตกรรมการแพทย์’ ของโลกก้าวไกล ช่วยรักษามะเร็งร้ายได้ผลดีขึ้น แต่ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายในการรักษาที่พุ่งสูงถึง 15 ล้านบาท แนะทำประกันมะเร็งรับมือความเสี่ยง พร้อมเปิด 5 วิธีคัดสรรกรมธรรม์ให้คุ้มค่า ผู้หญิงควรซื้อก่อนอายุ 30 ปี ด้านผู้ชายซื้อก่อนอายุ 40 ปี
นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยมาตั้งแต่ปี 2542 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2562 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง วันละ 221 คน หรือ 80,665 คนต่อปี คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยชั่วโมงละ 9 คน และยังพบผู้ป่วยรายใหม่ถึงวันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี ขณะที่องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ในปี 2573 ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงถึง 13 ล้านคน จากปี 2562 ที่มีการเสียชีวิตอยู่ที่ 9.6 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นมาก ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีโอกาสรักษาหายได้มากกว่าในอดีต ยกตัวอย่าง การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดแบบเซลล์บำบัด Chimeric Antigen Receptor T cell (CAR T cell) ซึ่งเป็นการนำเอาเม็ดเลือดขาวออกมาเลี้ยงและดัดแปลงยีนส์ ก่อนฉีดกลับเข้าไปในคนไข้ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ที่มีการแสดงออกของ CD19 แต่ก็นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก โดยข้อมูลจากบริษัทเวชภัณฑ์ยาอย่าง Novartis ตั้งสนนราคาขายยา Kymriah อยู่ที่ 475,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 15 ล้านบาท (ราคาแปรผันตามอัตราแลกเปลี่ยน) นับเป็นเทคนิคการรักษาที่มีราคาแพงที่สุดวิธีหนึ่งของโลก หรือแม้แต่การรักษาด้วยวิธีปัจจุบันอย่างการผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี จากประมาณการค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์โดย Roche เมื่อปี 2556 พบว่า การรักษาโรคมะเร็งระยะเริ่มต้นมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 2,897,000 บาท และระยะแพร่กระจายหรือระยะลุกลาม มีค่าใช้จ่ายรวมสูงถึง 4,172,000 บาท
จากค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งที่สูงมากดังกล่าว อาจต้องแลกมาด้วยค่ารักษาที่ต้องใช้เงินที่เก็บมาทั้งชีวิตและบางรายเงินที่เก็บมาอาจจะไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีตัวช่วยในการรับมือกับโรคร้ายอย่าง “ประกันมะเร็ง” มาช่วยรับความเสี่ยงแทน โดยหากพิจารณาให้ดีจะสามารถเลือกประกันในค่าเบี้ยเพียงหลักพันบาทแต่ให้ความคุ้มครองสูงถึงหลักล้านบาทได้ อีกทั้งค่าเบี้ยประกันมะเร็งยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 25,000 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท (มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2563) ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก ซึ่งปัจจัยที่ควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจทำประกันมะเร็ง ประกอบด้วย
1.ความคุ้มครอง แบ่งออกเป็น 2 แบบหลักๆ คือ 1) ความคุ้มครองที่เป็นเงินก้อนที่จะได้รับเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง และ 2) ความคุ้มครองที่เป็นวงเงินค่ารักษาพยาบาลจากโรคมะเร็ง ปกติจะคุ้มครองตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวงเงินที่กำหนด ซึ่งหากกรมธรรม์ประกันมะเร็งที่เลือกนั้น มีทั้งความคุ้มครองที่เป็นเงินก้อนและวงเงินค่ารักษาพยาบาล จะยิ่งทำให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
2.ช่วงอายุการรับประกันและการต่ออายุการรับประกัน ควรพิจารณาเลือกกรมธรรม์ที่มีระยะเวลาความคุ้มครองที่ยาวนาน จะได้ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงไว้เอง เช่น สมัครได้ตั้งแต่อายุ 1-60 ปี และสามารถต่ออายุความคุ้มครองได้ถึง 70 ปี
3.ลักษณะการคิดค่าเบี้ยประกันรายปี มี 2 รูปแบบ คือ ค่าเบี้ยประกันแบบคงที่และแบบปรับเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ ถ้าเป็นค่าเบี้ยประกันแบบคงที่หากทำในตอนที่อายุยังน้อย ก็จะยิ่งคุ้มค่า เพราะค่าเบี้ยประกันก็จะยิ่งถูก
4.ข้อยกเว้นความคุ้มครอง เช่น กรมธรรม์จะไม่คุ้มครองหากเป็นมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนกับความเสี่ยงของตัวเอง และควรพิจารณาระยะเวลารอคอยหรือระยะเวลาที่กรมธรรม์จะไม่คุ้มครองด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วระยะเวลารอคอยของประกันมะเร็งจะอยู่ที่ 90 วัน
5.ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม เช่น ค่าตรวจวินิจฉัยซ้ำโรคมะเร็ง ค่าเดินทางไปรักษาตัวสำหรับโรคมะเร็ง ค่าชดเชยรายได้ เป็นต้น หากกรมธรรม์ที่กำลังพิจาณามีความคุ้มครองเหล่านี้เพิ่มเติม ก็จะยิ่งมีความคุ้มค่ามากขึ้น
“ข้อมูลในปี 2560 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้หญิงช่วงอายุ 30-39 ปี มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 223% ขณะที่ผู้ชายมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 195% และเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 40-49 ปี และจำนวนผู้ป่วยยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า อายุที่ควรทำประกันมะเร็งสำหรับผู้หญิงคือ ช่วงอายุก่อน 30 ปี และอายุที่ควรทำประกันมะเร็งสำหรับผู้ชายคือ ช่วงอายุก่อน 40 ปี อย่างไรก็ตาม แม้จะอายุยังน้อยก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งได้ จึงแนะนำให้ทำประกันมะเร็งทันทีในขณะที่สุขภาพยังแข็งแรง เนื่องจากหากเกิดโรคร้ายแรงขึ้นก่อนทำประกัน บริษัทประกันอาจจะพิจารณาไม่รับความคุ้มครองให้เราได้” นายณัฐกฤติกล่าว