‘ออมสิน’ ยุคใหม่ หนุนลูกค้าโตยั่งยืน อุ้มสินเชื่อดบ.ต่ำ ยอมกำไรลด NPL เพิ่ม

HoonSmart.com>>”ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ส่งไม้ต่อ”วิทัย รัตนากร “ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนที่ 17 ผลักดันการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 3 Banking  หวังโตอย่างแข็งแกร่ง มั่นคงและยั่งยืน อยู่เคียงคู่กับประเทศไทยและประชาชนทุกกลุ่ม เผยผลงาน 5 ปีครึ่งที่ผ่านมาโตก้าวกระโดด พลิกโฉมธุรกิจชัดเจน เพิ่มมูลค่าแบรนด์ออมสิน จาก 52,353 ล้านบาท เพิ่มเป็น 132,573 ล้านบาท ยอมรับโควิด-19 กระทบ ลูกค้าแห่ขอซอฟท์โลน ดอกเบี้ยต่ำมาก แบงก์ยอมกำไรหายจาก 2-3 หมื่นล้านบาทเหลือ 1 หมื่นล้านบาท หวั่นหมดเวลาพักหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย ต.ค.นี้  NPLs เพิ่มขึ้น 6-7 พันล้านบาท

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คนที่ 16 ส่งมอบหน้าที่ให้กับ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คนที่ 17 ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ค. 2563 ที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2563ที่ผ่านมา

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี 5 เดือนที่ได้เข้ามาบริหารงานในฐานะผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้นำแนวคิดและประสบการณ์มาประยุกต์ใช้ในการบริหาร จนสามารถพลิกโฉมหน้าสู่การเป็นธนาคารออมสินยุคใหม่ที่ทันสมัย ก้าวไกลสู่อนาคต องค์กรเติบโต สร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนทุกกลุ่ม และเป็นเสาหลักของประเทศ จนผลักดันมูลค่าแบรนด์ออมสินเพิ่มขึ้นจาก 52,353 ล้านบาท เมื่อปี 2558 ขึ้นมาอยู่ที่ 132,573 ล้านบาท พร้อมรับรางวัลมากมายทั้งในประเทศและระดับสากล

ขณะเดียวกันยังมีการยกระดับและพัฒนาธนาคารสู่การเป็น “ดิจิทัล แบงก์กิ้ง” ทำให้ลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น สร้างการเติบโตของทรัพย์สิน เงินฝาก กำไรสุทธิ และจำนวนลูกค้าที่มีมากถึง 22 ล้านคนเมื่อสิ้นปี 2562 พร้อมกระจายฐานลูกค้าที่มีความหลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

“ผมยังมุ่งหวังจะเห็นธนาคารออมสินเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มั่นคงและยั่งยืน อยู่เคียงคู่กับประเทศไทยและประชาชนชาวไทยตลอดไปอย่างสง่างาม โดยกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธนาคารออมสินที่จะส่งต่อให้ผู้อำนวยการคนใหม่ จำเป็นต้องผลักดันการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 3 Banking ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว  มุ่งมั่นที่จะพัฒนาและยกระดับองค์กรในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง พร้อมปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัลและสถานการณ์โควิด-19” นายชาติชายกล่าว

ธนาคารออมสินต้องสร้างสมดุลการดำเนินงานเชิงสังคมและตอบสนองนโยบายรัฐอย่างมีธรรมภิบาลในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเข้มแข็ง  ปรับเปลี่ยนค่านิยมองค์กรเป็น “GSB WAY : วิถีออมสินยุคใหม่ พร้อมเติมเต็มสังคมไทย คิดกว้างไกลเหนือขีดจำกัด”  ส่วนลูกค้าที่ใช้บริการสาขาน้อยลงและหันไปใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น  ต้องเร่งหารายได้ใหม่ๆ จากช่องทางสาขาและบุคลากรที่มีจำนวนมาก ลดต้นทุนการให้บริการหน้าสาขา ผลักดันลูกค้าให้ใช้ช่องทางดิจิทัลให้มากขึ้น และการเร่งสร้างแหล่งรายได้และผลตอบแทนจากการขยายสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อปรับโครงสร้างพอร์ตของธนาคาร

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์การแพร่เชื้อของโควิด-19 ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และดำเนินภารกิจที่รัฐบาลได้มอบหมายตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ยื่นกู้มากถึง 3,023,168 ราย ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน จากปกติที่จำนวนรวมยอดผู้ยื่นกู้นี้จะต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี โดยธนาคารฯ ได้อนุมัติไปแล้วเกือบ 600,000 ราย

นอกจากนี้จากมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสิ้นสุดในอีก 5 เดือนข้างหน้า (ต.ค.2563) ทำให้มีโอกาสที่ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของธนาคาร ณ สิ้นปีนี้จะเพิ่มมาอยู่ในกรอบเพดาน 3.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.2% หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 2.6% โดยในระหว่างนี้ธนาคารมีแนวทางเร่งแก้หนี้ให้กับลูกค้าเพื่อลดตัวเลข NPLs รองรับการเพิ่มขึ้นอีกครั้งช่วงปลายปีนี้  ซึ่งอาจมีผลกระทบแนวโน้มกำไรธนาคารปีนี้ลดลงมาเหลือกว่า 1 หมื่นล้านบาทจากภาวะปกติมีกำไรมากกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท