บล.ทิสโก้ ไขข้อข้องใจ ต่างชาติจะขายหุ้นไทยอีกเท่าใด?

เราเชื่อว่านักลงทุนหลายท่านคงสงสัยว่า (1) นักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นไทยอีกจำนวนเท่าใด (2) อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจไทยและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มที่ดี

นับจากต้นปี นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้ว 168,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มิ.ย.2561) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะเพิ่งผ่านมาแค่ 5 เดือนกว่าๆ เท่านั้นเอง

ถ้ารวมยอดขายสะสมสุทธิที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางปี 2013 ซึ่งเป็นปีแรกหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เงินทุนต่างประเทศเริ่มไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ จะได้ยอดขายสะสมทั้งหมดสูงถึง 497,000 ล้านบาท

ที่น่าสนใจ คือ นักลงทุนต่างชาติเอาหุ้นที่ไหนมาขาย

ถ้าดูจากยอดซื้อสะสมของนักลงทุนต่างชาติรอบปี 2009-2012 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากที่สุด (ผลพวงจากธนาคารกลางหลักของโลก อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED), ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ดำเนินมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ หรือ QE ก็เข้ามาแค่ 194,000 ล้านบาท แต่ทำไมขาออก ถึงออกไปมากมายกว่าหลายเท่า หรือแม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกใหม่ๆ ปี 2008 รอบนั้นเงินทุนต่างชาติยังไหลออกแค่ 249,000 ล้านบาทเท่านั้น

สิ่งที่สามารถอธิบายได้ก็คือ เม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ารอบปี 2009-2012 ที่ 194,000 ล้านบาทนั้น (คิดเป็น SET Index เฉลี่ยที่ประมาณ 900 จุด) มี “มูลค่า” เติบโตขึ้นตาม SET Index ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยแตะระดับสูงสุดที่ 352,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า

อย่างไรก็ดี ก็ยังคงต่ำกว่าเงินที่ไหลออกอยู่ดี (497,000 ล้านบาท) แปลความง่าย ๆ ก็คือ เงินที่ไหลเข้ามาช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ไหลออกไปหมดแล้ว และบางส่วนยังเป็นหุ้นที่สะสมมาในอดีตด้วย แต่ตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงการลงทุนในหุ้น IPO ซึ่งไม่ได้ถูกรวมอยู่ในข้อมูลด้านซื้อ เพราะเป็นการซื้อในตลาดแรก แต่จะถูกบันทึกเวลาขาย ถ้ารวมข้อมูล IPO และกำไรจาก IPO เข้าไปด้วย น่าจะทำให้ส่วนต่างระหว่างตัวเลขฝั่งซื้อและฝั่งขายนี้แคบลง

ทั้งนี้ หุ้น IPO ขนาดใหญ่ที่มีการเสนอขายตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ได้แก่ GULF, BPP, BTSGIF, TPIPP และ DIF เป็นต้น โดยราคาหุ้นปัจจุบันสูงกว่าราคาจองโดยเฉลี่ยประมาณ 20%

หากเงินที่ไหลเข้ามาช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ไหลออกไปหมดแล้ว และบางส่วนยังเป็นหุ้นที่สะสมมาในอดีตด้วย จึงต้องย้อนดูข้อมูลการซื้อขายแยกตามประเภทนักลงทุนลึกมากขึ้น จากการย้อนดูข้อมูล เท่าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มมีการเปิดเผยมาตั้งแต่ปี 1992 พบว่า ยอดซื้อขายสะสมของนักลงทุนต่างชาติที่เป็นมูลค่าตามปกติติดลบไปแล้วประมาณ 80,000 ล้านบาท

แต่หากปรับให้เป็นมูลค่าปัจจุบันตามการเปลี่ยนแปลงของ SET Index ยอดซื้อขายสะสมของนักลงทุนต่างชาติยังมียอดเป็นบวกราว 149,000 ล้านบาท ดังนั้น หากนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยอีกจนแตะมูลค่าที่เคยต่ำที่สุดในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ที่ 86,000 ล้านบาท จะแสดงนัยถึงนักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นไทยได้อีกประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท

อีกวิธีหนึ่งในการประเมินแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ คือ พิจารณาจากสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติโดยปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนการถือหุ้นไทยรวมอยู่ที่ 29.2% ของมูลค่าตลาดรวม (เป็นการถือหุ้นทางตรง 22.1% และการถือหุ้นทางอ้อมโดยผ่าน NVDR อีก 7.1%) และ 20.7% ของมูลค่าทุนจดทะเบียน (เป็นการถือหุ้นทางตรง 17.3% และการถือหุ้นทางอ้อมโดยผ่าน NVDR อีก 3.4%) หากอิงสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติให้เท่ากับที่เคยต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ที่ประมาณ 28.7% ของมูลค่าตลาดรวม และ 18.7% ของมูลค่าทุนจดทะเบียน จะแสดงนัยถึงเม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติที่ต้องปรับพอร์ตลงอีกประมาณ 86,000 ล้านบาท และ 63,000 ล้านบาท ตามลำดับ การประเมินด้วยวิธีนี้ พอจะช่วยลดความคลาดเคลื่อนของข้อมูลจากการลงทุนหุ้น IPO ของนักลงทุนต่างชาติในวิธีแรกลงได้

วิธีสุดท้าย คือ การดูสัดส่วนการถือหุ้นไทยในแต่ละกองทุนที่มีการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ว่าสูงหรือต่ำแค่ไหน จากข้อมูลล่าสุดที่เรามีจากกองทุนต่างประเทศประมาณ 500 กอง มีน้ำหนักหุ้นไทยเฉลี่ยเหลืออยู่ที่ 2.8% ซึ่งใกล้เคียงกับน้ำหนักหุ้นไทยใน MSCI Asia ex. Japan Index ที่ 2.6% ซึ่งน่าจะแปลคร่าวๆ ได้ว่าแรงขายไม่น่าจะมีมากแล้วนับจากนี้ จากการประเมินของเราทุก ๆ 0.1% ที่กองทุนต่างประเทศลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทยลง จะคิดเป็นเม็ดเงินการขายประมาณ 42,000 ล้านบาท ดังนั้น หากลดน้ำหนักลงจาก 2.8% เป็น 2.6% จะเป็นเม็ดเงินการขายราว 84,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี วิธีนี้มีความแม่นยำที่ต่ำเนื่องจากความหยาบของข้อมูล

สรุป (1) เราเชื่อว่าแรงขายของนักลงทุนต่างชาติมีอีกไม่มากแล้ว จากการประเมินด้วยวิธีต่าง ๆ บ่งชี้สอดคล้องกันว่าไม่น่าจะเกินกว่าระดับ 90,000 ล้านบาท

(2) เราไม่อยากให้นักลงทุนกังวลกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติมากนัก เพราะช่วง 3-4 ปีมานี้ขายสุทธิออกไปมากแล้ว และปัจจุบันนักลงทุนที่มีบทบาทสำคัญกับความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศมีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) กับ SET Index เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อยู่ที่ +0.65 เท่า เทียบกับนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ที่ -0.43 เท่า

(3) เรามองเหตุผลหลักของการขายนักลงทุนต่างชาติ เป็นการขายเพื่อลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั้งหมด มากกว่าที่จะเป็นการขายเพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย และเนื่องจากในระยะหลัง มีการออกกองทุนประเภท ETF หรือ Index Funds จำนวนมาก รวมถึงมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจ “Private Wealth Management” ซึ่งมีการลงทุนโดยผ่านตัวแทนในต่างประเทศ ทำให้การลงทุนถูกกระจายตามประเภทสินทรัพย์แบบเปรียบเทียบกันทั้งโลก (Asset Allocation) ดังนั้นเวลามีการลดน้ำหนักการลงทุน จะเกิดแรงเทขายที่ค่อนข้างรุนแรงและรวดเร็ว เพราะกองทุนประเภทนี้สามารถปรับพอร์ตได้ทันทีโดยไม่ต้องคำนึงถึงราคาหุ้น

(4) เชื่อว่าเมื่อนักลงทุนต่างประเทศเริ่มคลายกังวลเรื่องผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของ FED และเรื่องสงครามการค้า จะเริ่มแยกแยะประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่แข็งแรง ออกจากกลุ่มประเทศที่อ่อนแอ ทำให้เงินต่างชาติน่าจะไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย ด้วยพื้นฐานที่เข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งแนวโน้มตลาดหุ้นที่ยังเป็นขาขึ้น

(5) จากปัจจัยกดดันหลักมาจากภายนอก เรายังคงมุมมองพอร์ตลงทุนเป็นจังหวะทยอยสะสมในช่วงตลาดอ่อนตัว 1-2 เดือนนี้ ประเด็นหุ้นน่าลงทุนในครึ่งปีหลัง เราเน้นหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งและวงจรการลงทุนรอบใหม่ ชอบสุดในกลุ่มรับเหมา CK (เป้าพื้นฐาน 38 บาท), SEAFCO (11 บาท) นิคมฯ ROJNA (7.7 บาท) แบงก์ BAY (47 บาท), BBL (217 บาท), KBANK (223 บาท) ค้าปลีก CPALL (Consensus ให้เป้าพื้นฐาน 93 บาท), BJC (Consensus ให้เป้าพื้นฐาน 62 บาท), COM7 (20.5 บาท), HMPRO (Consensus ให้เป้าพื้นฐาน 15.3 บาท) อื่นๆ AEONTS (192 บาท), BTS (11 บาท), PLANB (7.9 บาท)