“สมคิด”สั่งหาทางช่วยธุรกิจเข้าถึงทุน อุ้มหุ้นกู้นอกกลุ่ม Investment Grade

HoonSmart.com>>”สมคิด”คาดผลกระทบจากโควิดจะมีมากขึ้นใน 3-4 เดือนข้างหน้า สั่งออกมาตรการกระตุ้นบริโภค-ท่องเที่ยวในไตรมาส 3 ทบทวนซอฟต์โลน-กองทุนรักษาสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ ภาวะไม่ปกติใช้วิธีเดิมจัดอันดับเครดิตไม่ได้ ต้องช่วยหุ้นกู้ของบริษัทที่มีศักยภาพและรักษาไว้ สั่งก.ล.ต.ตั้งกองทุน ช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบ หามาตรการภาษีมาจูงใจเงินลงขัน 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมเรื่องแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปว่า รัฐบาลพยายามอุดช่องโหว่ในการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อภาคธุรกิจและประชาชนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะคาดว่าผลกระทบจะมีมากขึ้นในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้า โดยมอบหมายกระทรวงการคลังออกมาตรการในการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยว คาดว่าจะเห็นมาตรการใหม่ในไตรมาส 3/63

ส่วนการคลายล็อกต่างประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับนายกรัฐมนตรี แต่การจับคู่ประเทศต้องเน้นประเทศที่ไม่มีไวรัสพอสมควร

นอกจากนี้ ได้ฝากที่ประชุมให้พิจารณาทบทวน พ.ร.ก.ซอฟท์โลน และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือเอกชน ผู้ประกอบการบางส่วนเข้าไม่ถึงสินเชื่อซอฟต์โลนผ่านระบบธนาคาร อาจมีภาคธุรกิจบางส่วนติดขัดเงื่อนไข
นอกจากนี้การให้อำนาจ ธปท.ตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ซื้อตราสารหนี้ในวงเงิน 4 แสนล้านบาท จะต้องมีจุดประสงค์ไม่ใช่ช่วยเหลือเฉพาะหุ้นกู้ในระดับ Investment Grade เท่านั้น แต่ควรจะช่วยเหลือธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่มีปัญหาที่จะต้องรักษาเอาไว้ จึงฝากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หากลไกเข้ามาดูแลส่วนนี้ด้วย

ปัจจุบันการจัดอันดับตราสารหนี้ในระดับ Investment Grade ถูกจัด โดย บริษัท ทริส เรทติ้ง และ บริษัทฟิทช์ เรทติ้ง ซึ่งเป็นการจัดอันดับในภาวะเศรษฐกิจปกติ แต่ในภาวะที่ไม่ปกติ จะใช้วิธีการปกติมาจัดอันดับไม่ได้ จะมีกลุ่มธุรกิจที่ยังมีศักยภาพไปได้ แต่ไม่ได้รับการเยียวยา ซึ่งจุดประสงค์ของรัฐบาล ไม่ได้ต้องการช่วยเฉพาะธุรกิจที่มี Investment Grade เท่านั้น

นายสมคิดกล่าวว่า ได้หารือกับ ก.ล.ต. จัดตั้งกองทุนที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือ ทั้งบุคคลธรรมดา ภาคธุรกิจ ขนาดเล็ก กลาง ทั้งหมด โดยมีแนวคิดต้องมีคนมาลงขันในกองทุนเหล่านี้เพื่อมาลงทุนในบริษัทที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่ง ก.ล.ต.ได้ขอมาตรการทางภาษีที่จูงใจให้สามารถระดมทุนก้อนนี้

ขณะเดียวกันได้สั่งการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรมสรรพากร ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม  เช่น ร้านค้าเปิดแล้วแต่คนไม่กล้าไปซื้อของ ยิ่งได้รับผลกระทบหนัก  จะอยู่ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการจูงใจเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายหรือไม่