บล.ทรีนีตี้ มองบวก ปตท.สผ. ลงทุนโครงการบงกชอีก 22% เพิ่มกำไร 1,000 ล้านบาท/ไตรมาส “สมพร”ยันเดินหน้าซื้อกิจการ ตามแผนกลยุทธ์ระยะยาว
บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทรีนีตี้ ยังคงแนะนำให้”ซื้อเก็งกำไร” หุ้นบริษัทปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ( PTTEP)ให้ราคาเป้าหมาย 125 บาท ยังไม่รวมโครงการบงกช 14 บาท และส่วนเพิ่มจากส่วนที่ซื้อเพิ่มจากเชลล์อีกประมาณ 5 บาท
การลงทุนเพิ่มในสิทธิสัมปทานโครงการบงกช จำนวน 22.22% ซึ่งได้แก่ แปลง B15 แปลง B16 และแปลง B17 จากบริษัท Shell Integrated Gas Thailand Pte. Limited (Shell) และแปลง G12/48 จากบริษัท Thai Energy Company Limited (บริษัทย่อยของ Shell) ทำให้มีสัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 66.66% และเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมของบริษัทประมาณ 35,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จะช่วยให้กำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 1,100 ล้านบาท ต่อไตรมาส หรือประมาณ 0.28 บาทต่อหุ้น และบริษัทจะสามารถเริ่มรับรู้กำไรส่วนเพิ่มได้ในช่วงของไตรมาส 3
“เราได้ประเมินมูลค่าส่วนเพิ่มประมาณ 4.18-5.38 บาทต่อหุ้น เรามีโอกาสที่จะปรับประมาณการจากสมมติฐานน้ำมันใหม่ จากสมมติฐานราคาน้ำมัน 65- 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ” บล.ทรีนีตี้ระบุ
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP กล่าวว่า การลงทุนเพิ่มในแหล่งบงกชเป็นไปตามกลยุทธ์ของ ปตท.สผ. ที่แสวงหาการลงทุนใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตและเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ย ประมาณ 35,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันได้ทันที และที่สำคัญยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในแหล่งก๊าซฯ บงกชในปัจจุบัน ที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลเพื่อเป็นผู้ดำเนินการในแหล่งบงกชต่อไป
“ปตท.สผ. มีประสบการณ์และความชำนาญในการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเฉพาะในแหล่งบงกชซึ่งเราเป็นผู้ดำเนินการมากว่า 20 ปี และดำเนินงานโดยคนไทยเกือบ 100% เรามั่นใจว่าจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่องตามนโยบายของภาครัฐด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ และให้ผลประโยชน์กับประเทศได้มากกว่า ขอย้ำว่า ปตท.สผ. จะเข้าร่วมประมูลทั้งแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ เพื่อสร้างความต่อเนื่องและความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอย่างแน่นอน”นายสมพรกล่าว
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมุ่งแสวงหาการลงทุนใหม่ๆ จากการเข้าซื้อกิจการ โดยให้ความสำคัญกับการแสวงหาสินทรัพย์ที่ผลิตแล้วหรือที่กำลังเริ่มผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกลาง ตามแผนกลยุทธ์ของบริษัท