เงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง หลังจากสภาพคล่องไหลบ่าเข้าเอเชีย แต่จะเลือกหุ้นกลุ่มไหนดีหล่ะ
ท่ามกลางเสียงเตือนว่าหุ้นไทยแพงระยับ เทรดกันที่ระดับ P/E มากกว่า 20 เท่า แต่หุ้นก็ยังวิ่งฝุ่นตลบ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีขึ้นไปจ่อบริเวณ 1,450 จุด ทั้งหุ้นใหญ่ หุ้นเล็กมากันหมดเกือบทั่วกระดาน คาดว่าจะไปต่อได้ไม่ยาก
ยิ่งได้ความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัว เมื่อเห็นตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตำแหน่ง ฟื้นตัวจากที่ลดลง 20.7 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย.นับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดภายในเดือนเดียวในรอบ 81 ปี ทำให้ความกลัวเรื่องเศรษฐกิจโลกจะถดถอยลดน้อยลง
ธนาคารกลางประเทศสำคัญยังคงอัดฉีดเงินเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด (PEPP) อีก 6 แสนล้านยูโร สู่ระดับ 1.35 ล้านล้านยูโร (คิดเป็นกว่า 9.7% ของ GDP) และขยายเวลาเข้าซื้อไปจนถึงเดือนมิ.ย. 2564 จากเดิมสิ้นสุดปลายปีนี้
จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐวันที่ 9-10 มิ.ย. จะขยายขอบเขตและขนาดของโครงการสินเชื่อต่างๆ อย่างไร หลังจากอัดฉีดเงินเข้าระบบ 3 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ตามด้วยธนาคารกลางญี่ปุ่น 15-16 มิ.ย. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุม 24 มิ.ย. ตลาดคาดว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% แต่จะมีการส่งสัญญาณเรื่องเศรษฐกิจหรือจะมีมาตรการอะไรออกมาอีก
“สภาพคล่องล้นโลก กดดอกเบี้ยต่ำ จนติดลบในบางประเทศ เมื่อมีความมั่นใจเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นแล้ว เงินจะวิ่งเข้าหาสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อหวังผลตอบแทนสูง ตามธรรมชาติจะต้องเข้าหาหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดีขึ้น มองข้ามผลงานบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะย่ำแย่ และเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงในไตรมาส 2/2563 ไปแล้ว ”
บล.ทรีนีตี้คาดกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าถูกกว่ามูลค่ากิจการ และราคาปรับตัวขึ้นช้ากว่าตลาด น่าสนใจ พุ่งเป้ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสจะปรับตัวขึ้นมากกว่าตลาดต่อไป
ทั้งแบงก์ และอสังหาริมทรัพย์ ดึงดูดเงินลงทุน เพราะหลายตัวมีจุดเด่น เรื่องสัดส่วนราคาต่อกำไร (P/E) และสัดส่วนราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (P/BV)ต่ำ แถมยังให้อัตราผลตอบแทนปันผลสูงมากด้วย
แต่ต้องอย่าลืมว่าทั้งสองกลุ่มยังมีความเสี่ยงเรื่องผลการดำเนินงานต่ำ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ยังถูกทดสอบจากปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจเข้ามารบกวน กำลังซื้อของลูกค้าต่างชาติหายวับ ในประเทศเองก็ไม่มีกำลังมากนัก เกณฑ์การพิจารณาขอสินเชื่อเข้มงวด แต่ยังดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ครม.มีมติปรับลดภาษีลง 90% และเลื่อนเวลาชำระเงินออกไปเป็นเดือน ส.ค. โดยบล.ทิสโก้ แนะนำให้ “ซื้อ” บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP,บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) และบริษัทควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 6.50 บาท, 10.60 บาท และ 3.10 บาท ตามลำดับ
แต่หุ้นทั้งสามบริษัทของ “กลุ่มอัศวโภคิน” ขึ้นมารับข่าวไม่แรงเท่าอสังหาริมทรัพย์ตัวเล็ก อาทิ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) บริษัท ไรมอน แลนด์ (RML) เทรดสนั่น โชว์ซิลลิ่ง 3 วันติดต่อกัน
นักลงทุนคนใดซื้อหุ้น PF แล้วถือ 3 วัน ได้กำไรตั้ง 42% ราคานิ่งๆ จาก 0.35 บาท พุ่งพรวดขึ้นไปสูงสุด 0.52 บาทก่อนปิดที่ 0.50 บาท ดัน P/E ขยับจาก 2 เท่าเศษเป็น 4.19 เท่า P/BV เพียง 0.36 เท่าเท่านั้น
” PF ได้รับความสนใจ เรื่องถูก จาก P/E และ P/BV ต่ำ แต่ต้องอย่าลืมว่า เป็นตัวเลข ณ สิ้นปี 2562 บริษัทขอเลื่อนการนำส่งงบการเงินงวดไตรมาส 1/2563 ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะขาดทุนหรือไม่ แต่นักลงทุนมีความหวังว่าบริษัทนี้มักจะมีกำไรพิเศษ บริษัทถือหุ้นใน บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) จำนวน 343 ล้านหุ้น หรือ 9.50% ซึ่งกำลังเจรจาขายหุ้นมานานแล้ว ไม่รู้ว่าจะลงจบได้เมื่อใด”
แต่บริษัทก็มีจุดเสี่ยง โอกาสเติบโตไม่มากตามภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แถมยังมีหุ้นเพิ่มทุนรอเข้ามาซื้อขายในตลาด ทั้งหุ้นปันผลจำนวน 866 ล้านหุ้น และหุ้นเพิ่มทุนที่เตรียมไว้ แต่ยังไม่ได้ขาย เจอสถานการณ์โควิด-19 ระบาดก่อน และยังต้องเติมสภาพคล่องบ่อย ๆ ล่าสุดเตรียมเปิดขายหุ้นกู้มูลค่า 400 ล้านบาท และสำรองอีก 200 บาท อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.25%ต่อปี
สำหรับ RML ซิลลิ่งโชว์ 3 วัน แจกกำไรถึง 48 % ราคามาจาก 0.50 บาทขึ้นไปสูงสุด 0.74 บาท มาปิดที่ 0.69 บาท P/BV 0.51 เท่า P/E วัดไม่ได้ เพราะไตรมาส 1/2563 ขาดทุนตั้ง 136 ล้านบาท เหตุลูกค้าหลักของโครงการ เดอะ ลอฟท์ สีลม เดินทางเข้ามาไม่ได้ เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ลูกค้าจีนพร้อมเข้ามา โอนห้องชุดสร้างกำไรเข้าบริษัท
แต่ความไม่แน่นอนยังอยู่คู่กับการลงทุนเสมอ ในสถานการณ์โลกไม่ปลอดภัย ทั้งการระบาดของโควิดที่คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะยืดเยื้อไปอีกนานเพียงแค่ไหน ภาวะเศรษฐกิจจะตกต่ำหรือถดถอยหรือไม่ ดังนั้นการลงทุนจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงเป็นอันดับแรก หากชอบหุ้นอสังหาริมทรัพย์ เชื่อว่ามีอีกหลายตัวที่ซื้อแล้วถือลงทุนระยะยาวสบายใจได้ ทุกปีมีเงินปันผลตอบแทนมากกว่า 4% น่าจะคุ้มค่ามากกว่าการซื้อหุ้นที่มีผลการดำเนินงานผันผวน โดยไม่รู้ว่าวิกฤติการณ์โควิด การล็อกดาวน์จะเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าไทยและต่างประเทศอย่างไรด้วย