แบงก์แอบลดดอกเบี้ยเงินฝาก คาดประหยัดค่าใช้จ่าย 3-4 พันลบ.

HoonSmart.com>>ใครรู้บ้างไหม ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากในเดือนพ.ค.2563  รอบนี้คนฝากออมทรัพย์ประเภทบุคคลธรรมดา ก็หนีไม่พ้น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารกรุงไทย (KTB) หั่นพรวดเดียว เหลือเพียง 0.25% ต่อปี สำหรับเงินฝากประจำ ปรับลดหลั่นกันไป ธนาคารกสิกรไทยจ่ายดอกเบี้ยน้อยที่สุด ประเภท 3 เดือนเหลือ 0.37% และ 6 เดือนเท่ากับ 0.45%  

“การปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำและออมทรัพย์เฉลี่ย 0.25% น่าจะช่วยให้แบงก์ประหยัดรายจ่ายได้ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท เริ่มมีผลตั้งแต่งวดไตรมาสที่ 2/2563 ทำให้กำไรของธนาคารขนาดใหญ่ไม่ได้แย่อย่างที่กังวลกัน และน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งในการไล่ซื้อหุ้นธนาคารพาณิชย์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา”แหล่งข่าวกล่าว

ดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงช่วยชดเชยรายได้ส่วนที่่หายไปจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MLR,MOR และ MRR หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย (กนง.) มีมติปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ลงไปอยู่ที่ 0.50%ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2563 ไม่รวมผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้อัตรา 0.40% เพื่อแลกกับภาระการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจาก 0.46% เหลือ 0.23% และการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะ SMEs ก่อนหน้านี้

ธนาคารกรุงเทพนำร่องในการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ มีผลวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ในวันเดียวกัน ได้ปรับลดดอกเบี้ยสะสมทรัพย์ สำหรับบุคคลธรรมดา เหลือ 0.25% จากเดิมจ่าย 0.375% โดยไม่มีการเปลี่ยนดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์สำหรับนิติบุคคลทั่วไป และหน่วยราชการที่คิดต่ำอยู่แล้ว 0.125% วงเงินน้อยกว่า 50 ล้านบาท และ 50 ล้านบาทขึ้นไปจ่าย 0.25% ให้กับนิติบุคคล หน่วยราชการ 0.125 %

ขณะเดียวกันได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.125% ประเภท 3 เดือนเหลือ 0.375% และ 6 เดือนเป็น 0.50% หลังจากนั้นธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลงถึง 0.25% เหลือ 0.25% และเงินฝากประจำด้วยเช่นกัน มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา

การปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากมีผลกระทบต่อผู้ฝากเงิน โดยเฉพาะประชาชนที่พึ่งพาดอกเบี้ยเป็นรายได้หลัก

ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานโครงสร้างเงินฝากในระบบธนาคาร  ตัวเลข ณ เดือนมี.ค. 2563 มีเงินฝากออมทรัพย์คงค้าง 8,108,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากถึง 707,652 ล้านบาทจากเดือนก.พ.ที่ผ่านมา คาดว่าเป็นเงินที่ไหลมาจากตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นที่ร่วงลงแรงผิดปกติมาพักไว้  และในเดือนเม.ย. ยังคงไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ชะลอตัวลงจากเดือนมี.ค.

คนในวงการแบงก์ให้ข้อมูลว่าเงินฝากออมทรัพย์แบ่งเป็นของผู้ฝากเงินบุคคลธรรมดาประมาณ 50% ส่วนที่เหลือเป็นของนิติบุคคลและส่วนอื่นๆ ดังนั้นการลดดอกเบี้ยลง 0.25-1.25% คาดว่าจะช่วยลดค่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารขนาดใหญ่ มากกว่า 1,000 ล้านบาท

ส่วนเงินฝากประจำมีทั้งสิ้น 4,743,325 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมี.ค.ลดลง 20,167 ล้านบาทจากเดือนก.พ. ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การลดดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์ใหญ่อย่างพร้อมเพรียงกัน ประมาณ 0.125%-0.40% จะเพิ่มแรงกดดันต่อทิศทางรายได้ดอกเบี้ย อาจทำให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) ชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 2.15-2.35% ในไตรมาสที่ 2 เทียบกับ NIM ที่ 3.09% ในไตรมาสแรก แต่หากธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดดอกเบี้ยออมทรัพย์บุคคลธรรมดาลงเป็นการทั่วไป 0.125% ก็อาจช่วยประคอง NIM ได้ประมาณ 0.06% ขณะที่สินเชื่อจะเติบโตสูงอยู่ในกรอบ 5-6% มากกว่าที่ 4% ในไตรมาสแรก

นางอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังน่าสนใจ ซื้อขายที่ P/BV เฉลี่ย 0.58 เท่า ธุรกิจยังมีกำไร และเงินปันผลน่าจูงใจ  เทรดที่ P/E เฉลี่ย  7 เท่า ขณะที่ตลาดซื้อขายที่ 19 เท่า โดยหุ้น TMB ซื้อขายที่ P/E 10 เท่า ส่วนที่เหลืออยู่ที่ 6-8 เท่า อย่างไรก็ตามราคาหุ้น BBL ขึ้นมาใกล้ราคาเป้าหมายที่ 104 บาทแล้ว แนะนำรอจังหวะอ่อนตัว แต่อัตราผลตอบแทนปันผลสูง เกือบ 7% น่าสนใจ ใกล้เคียงกับ SCB และ KTB 8.7%

ส่วนธนาคารขนาดเล็ก KKP มี upside ถึง 34% สูงกว่า TISCO ที่ 16% และเงินปันผลสูงถึง 8% ลดลงจากปีก่อน 10% และ TISCO 7 %

” 8 แบงก์ที่วิเคราะห์ คาดว่า มีกำไรรวมประมาณ 1.51 แสนล้านบาทลดลงประมาณ 14% จากปีที่ผ่านมา ส่วนปีหน้าจะกระเตื้องขึ้น + 5%เป็น 1.58 แสนล้านบาท แต่ยังไม่ถึงปี 2562 ที่มีกำไร 1.75 แสนล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนปันผลเฉลี่ย ไม่ต่ำกว่า 5-6% ถือว่าดีมากๆ” บล.ดีบีเอสฯระบุ

บล.เอเซียพลัส คงน้ำหนักกลุ่มแบงก์น้อยกว่าตลาด หรือเทียบเท่ามูลค่าดัชนีที่ไม่เกิน 10% สำหรับการลงทุนในเดือนมิ.ย. เตือนเตรียมรับแรงปะทะจากเศรษฐกิจชะลอตัว แม้ว่าสินเชื่อเติบโต แต่ต้องเฝ้าระวัง คุณภาพหยุดการตกชั้นชั่วคราวหรือตลอดไปหลังหมดมาตรการช่วยเหลือผ่อนคลาย เลือก BBL เป็นหุ้นเด่นจากพอร์ตสินเชื่อกว่า 41% เป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ แข็งแกร่ง มากกว่า SMEs และรายย่อย และยังมีเงินกองทุนสูงเกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 12% แถมมูลค่าเพียง P/BV 0.4 เท่า คาดอัตราผลตอบแทนปันผล 4% ต่อปี

ขณะที่กลุ่มสินเชื่อบุคคล (เช่าซื้อรถยนต์, สินเชื่อบ้าน) ซึ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อหลักของ TISCO, KKP และ TBANK (TMB ถือหุ้น 100%) ต้องจับตารายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะวิกฤติโควิด-19 มีโอกาสเป็นเหตุให้แรงงานบางส่วนถูกเลิกจ้างงานถาวรและยังไม่สามารถหางานใหม่ทดแทนได้