HoonSmart.com>> “การบินไทย” เสนอชื่อ “อีวาย คอร์ปอเรทฯ” ทำแผนฟื้นฟูกิจการร่วมกับบอร์ด ด้านศาลล้มละลายกลางรับคำร้อง นัดไต่สวน 17 ส.ค.63 หุ้นกู้ถูกลดเครดิต เป็น “D” ชี้กฎหมายคุ้มครองผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ด้านบริษัทยันทำธุรกิจปกติ แต่ยากขึ้น ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ หมดสิทธิพิเศษใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานรัฐบางส่วน ฟาก “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ บริษัทมีหนี้กว่า 3 แสนล้านบาท ตามแผนต้องลดหนี้อย่างหนัก แต่ยาก โดยเฉพาะเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เพราะคิดดอกเบี้ยต่ำเพียง 2% ต่อปี ลดทุนแก้ขาดทุน ก่อนเพิ่มทุนให้เพียงพอ อย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท สำหรับ แข่งขันสายการบินต่างประเทศที่มีทุน 1 แสนล้านบาท
บริษัท การบินไทย (THAI) แจ้งว่า วันที่ 27 พ.ค.2563 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทไว้พิจารณาแล้ว โดยศาลได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 17 ส.ค.2563
สำหรับรายละเอียดการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ ในฐานะลูกหนี้ เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และได้เสนอให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวเซอรี่ เซอร์วิสเซส ร่วมกับพล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤษฎิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญและนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการของบริษัทฯ เป็นผู้ทำแผน หากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัทฯ ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว ผู้ทำแผนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลจะมีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทต่อไป
การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้บริษัทฯ ยังสามารถประกอบธุรกิจปกติต่อไปได้ในระหว่างอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางของการบินไทยในประเทศต่างๆ หรือการขนส่งสินค้าไปรษณีย์ภัณฑ์ ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูองค์กร เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
นอกจากนี้นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค.2563 เป็นต้นไป
ด้านแหล่งข่าวในตลาดทุน กล่าวว่า บริษัทการบินไทยต้องใช้เวลานานในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพราะหนี้สินสูงกว่า 3 แสนล้านบาท โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์ จะแก้ไขลำบาก คงไม่สามารถลดหนี้ หรือแฮร์คัทได้มากนัก เพราะปัจจุบันคิดดอกเบี้ยต่ำมากเพียง 2% ต่อปี และในระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟู การดำเนินงานภายใต้บริษัทมหาชน ก็จะลำบากขึ้น อาจจะถูกเรียกคืนสิทธิพิเศษในการใช้ทรัพย์สินของหน่วยงาน เช่น สิทธิในสนามบิน ที่เคยได้จากการเป็นรัฐวิสาหกิจ
นอกจากนี้ยังจะต้องมีการลดทุนจดทะเบียนครั้งใหญ่ ปัจจุบันมีทุนเรียกชำระแล้ว 21,827 ล้านบาท และจะต้องเพิ่มทุนใหม่ ต้องมีอย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้มีจำนวนมากเพียงพอในการแข่งขันกับสายการบินชั้นนำของโลก เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์ ที่มีทุนจดทะเบียน 1 แสนล้านบาท แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ผู้ถือหุ้นเดิมจะได้รับความเสียหายมากจากการลดทุน และจะยอมเพิ่มทุนตามหรือไม่ กระทรวงการคลังจะต้องใส่เงินเข้ามาใหม่ แนวทางหนึ่งคงต้องเปิดทางให้นักลงทุนใหม่ ทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาแทน เพื่อให้บริษัทกลับมาดำเนินงานปกติ
อ่านข่าว
ทริสลดเครดิต THAI เป็น “D” หลังศาลรับแผนฟื้นฟู พักชำระหนี้อัตโนมัติ