ตลท.ปลด SP หุ้น AEC เช้านี้ เตือนศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน

HoonSmart.com>> ตลท.ปลด SP หุ้น AEC เปิดซื้อขายตั้งแต่ 27 พ.ค.นี้ พร้อมเตือนศึกษาข้อมูลรอบคอบก่อนลงทุน หลังบริษัทแจงแนวทางแก้ไขเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด เตรียมยื่นแผนต่อก.ล.ต.ภายใน 30 วัน เล็งกู้ยืมเงินด้อยสิทธิ ขายหุ้นในพอร์ต ลดการลงทุนหุ้นกู้ที่ถืออยู่ พร้อมเพิ่มทุน 300 ล้านบาท คาดจบกลางเดือนส.ค.นี้ หนุนเงินกองทุนกลับมาเป็นบวก

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้หยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เออีซี (AEC) ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.2563 เนื่องจากได้รับแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า AEC มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ต่ำกว่าศูนย์ติดต่อกันเกิน 5 วันทาการ ซึ่งเป็นเหตุให้บริษัทต้องระงับการดำเนินธุรกิจตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต.นั้น

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2563 เวลา 18.03 น. บล.เออีซี (AEC) ได้ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงอนุญาตให้ซื้อขายหลักทรัพย์ของ AEC โดยปลดเครื่องหมาย “SP” ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.2563

ทั้งนี้ ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลของ AEC ด้วยความระมัดระวังรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน

ด้านบล.เออีซี (AEC) ชี้แจงว่า สาเหตุที่ทำให้เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) และอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากว่าในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ที่มีการลงทุนในสัดส่วนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับ NC ของบริษัทจะต้องคำนวณ Large Exposure Risk – “LER” วิธีที่ 2 ตามประกาศที่ สธ. 50/2560 และ สธ.61/2562 เรื่อง การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ซึ่งบริษัทได้มีการลงทุนในหุ้นกู้บริษัท การบินไทย (THAI) ซึ่งถูกลดcredit rating จาก A เป็น C อย่างกะทันหัน

รวมถึงหุ้นกู้อื่นที่ถือ ถึงแม้จะเป็น Investment grade ที่สูงมากในระดับไม่ต่ำกว่า BBB ถึง AA ได้แก่ หุ้นกู้บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ,บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) ,บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ,บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ,บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ,บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) (FPT) ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่มีฐานะการเงินมั่นคงเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และหุ้นกู้ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) สัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 100%) และหุ้นกู้ TBEV ซึ่งเป็นหุ้นกู้ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

แต่ด้วยการลงทุนในหุ้นกู้ข้างต้นมีมูลค่าในแต่ละรายการในสัดส่วนที่สูงเกินกว่า 75% เมื่อเทียบกับ NC ของบริษัท จึงเป็นเหตุให้บริษัทต้องคำนวณค่าความเสี่ยง LER วิธีที่ 2 โดยปรับค่าความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่มีการลงทุนในสัดส่วนที่สูงเกินกว่า 75% เมื่อเทียบกับ NC ของบริษัทเป็น 100% ทำให้หุ้นกู้ดังกล่าวไม่สามารถนับเป็น liquid asset ตามหลักการ NC ได้ทั้งจำนวน ถึงแม้ว่าผู้ออกหุ้นกู้ดังกล่าวยังมีฐานะการเงินมั่นคงและมี credit rating ดี และยังคงคาดว่าจะได้รับการชำระหนี้คืน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ NC และ NCR ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะดำเนินการยื่นแผนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 30 วัน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้ดังนี้

แผนระยะสั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 มีมติให้ดำเนินการระดมทุนด้วยการกู้ยืมเงินด้อยสิทธิ การขายหุ้นสามัญที่บริษัทถือครองอยู่ และการลดพอร์ตการลงทุนในห้นกู้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการ

แผนระยะยาว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ได้มีมติเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและบุคคลโดยเฉพาะเจาะจง จำนวน 300 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จกลางเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งจะทำให้ระดับ NC และ NCR กลับมาเป็นบวก และอยู่ในเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด และขออนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้บริษัทกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติได้

สำหรับการออกหุ้นกู้วงเงิน 2,000 ล้านบาทนั้น ในกรณีที่การออกหุ้นเพิ่มทุน ไม่ทำให้ระดับ NC และ NCR อยู่ในระดับที่เป็นบวก หรือตามเกณฑ์ที่กำหนด บริษัทจะออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิให้มีมูลค่าเพียงพอที่จะทำให้ระดับ NC และ NCR เป็นบวก หรือตามเกณฑ์ที่กำหนด

ระหว่างที่บริษัท กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนนั้น จะมีผลกระทบดังนี้

1. ลูกค้าจะไม่สามารถเพิ่มสถานะการลงทุนในหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในทุกประเภทบัญชี บัญชีกองทุนส่วนบุคคล และบัญชีซื้อขายหน่วยลงทุน
2. บริษัทจะดำเนินการโอนย้ายบัญชีและทรัพย์สินของลูกค้าภายในระยะเวลาตามที่เกณฑ์กำหนด ทั้งนี้ ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของลูกค้า บริษัทจะดำเนินการโอนย้ายตามความประสงค์ของลูกค้าให้แล้วเสร็จภายใน 10 วันทำการ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันระยะเวลาจากสำนักงาน ก.ล.ต. แต่หากมีความจำเป็นและสมควรเพื่อป้องกันมิให้มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าได้รับความเสียหาย
3. บริษัทจะยังคงรับคำสั่งจากลูกค้าในการลดหรือปิดสถานะการลงทุนในหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้
4. ส่วนธุรกิจการเป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย และธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ของบริษัทไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้
5. ธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ที่ดำเนินงานมาก่อนการระงับการทำธุรกิจ บริษัทยังคงดำเนินการดูแลลูกค้าต่อไปได้

ส่วนผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทนั้น กล่าวคือ ในไตรมาส 1/63 บริษัทมีรายได้รวม 34.41 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้ค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 15.31 ล้านบาท (44.49%), ค่าธรรมเนียมและบริการอื่น 10.24 ล้านบาท (29.76%) (เช่น รายได้ค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายหุ้นกู้,รายได้ที่ปรึกษาทางการเงิน, รายได้กองส่วนบุคคล, รายได้การให้ยืม/ยืมหลักทรัพย์, รายได้จากการแนะนำลงทุนตั๋วแลกเงิน, รายได้ค่านายหน้าในการซื้อขายหน่วยลงทุน), กำไร(ขาดทุน)จากเงินลงทุน, รายได้ดอกเบี้ย, รายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์

ทั้งนี้ ภายหลังถูกระงับการดำเนินธุรกิจบริษัทจะยังคงมีรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ปรึกษาทางการเงินจากสัญญาเดิมก่อนการระงับการทำธุรกิจ และรายได้ค่านายหน้าจากการที่ลูกค้าขายหลักทรัพย์เท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายจะลดลงจากค่าใช้จ่ายผันแปรจากการดำเนินธุรกิจ โดยการหยุดประกอบธุรกิจดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท แม้ว่าจะมีการขายพอร์ตลงทุนที่เป็นหุ้นกู้ เพื่อเสริมสภาพคล่องตามข้างต้น

บริษัทคาดว่าจะดำเนินการตามแผนงานที่ยื่นต่อสำนักงาน กลต. ให้แล้วเสร็จ ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ภายใน 90 วัน แต่อย่างไรก็ตามแผนงานทั้งหมดบริษัท จะเร่งดำเนินการเพื่อให้เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) และอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) อยู่ในระดับตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยเร็วที่สุด และขออนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้กลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับผู้ถือหุ้น ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสีย

อ่านข่าว

บล.เออีซี แจงต้นเหตุถูกสั่งหยุดธุรกิจ ก.ล.ต.ตีค่าหุ้นกู้ชั้นดีในพอร์ตเป็นศูนย์