HoonSmart.com>> ธนาคารออมสิน ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125-0.25 มีผล 25 พ.ค.63 สอดคล้องทิศทางนโยบายดอกเบี้ยกนง. ร่วมบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 พร้อมดูแลลูกค้ารายย่อย ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากไม่ลด มุ่งส่งเสริมการออมต่อเนื่อง
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ด้วยภารกิจหลักของธนาคารออมสินในการเป็นกลไกส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้สถานการณ์และสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รวมถึงมุ่งให้ความสำคัญต่อสภาวะการดำรงชีพในการช่วยแบ่งเบาภาระลูกค้าและประชาชน ธนาคารฯ จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.2563 เป็นต้นไป
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลด 0.125-0.25% ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา หรือ MLR (Minimum Lending Rate) ปรับลดลงจาก 6.275% เป็น 6.150% (ปรับลด 0.125%) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือ MOR (Minimum Overdraft Rate) ปรับลดลงจาก 6.245% เป็น 5.995% (ปรับลด 0.25%) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR (Minimum Retail Rate) ปรับลดลงจาก 6.370% เป็น 6.245% (ปรับลด 0.125%)
สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด โดยธนาคารออมสินในฐานะสถาบันการเงินเพื่อการออม ยังคงส่งเสริมภาคการออมต่อเนื่องต่อไป หรือภายหลังจากการประชุมครั้งต่อไปของ กนง. ในวันที่ 24 มิ.ย.2563 ซึ่งธนาคารจะมีการพิจารณาทบทวนการปรับอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง
นายชาติชาย กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ และยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ธนาคารฯ ยังต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้อยู่ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอลดการนำเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนปรนให้ลดการนำเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งการได้ลดเงินสมทบเข้ากองทุนฯ (SFIF) จะสามารถนำมาชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ จึงหวังว่าจะได้รับการผ่อนปรนในระยะอันใกล้นี้เช่นกัน
“ปัจจัยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ธนาคารออมสินจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน และลูกค้าของธนาคารฯ ได้ไม่มากก็น้อย” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว