GCAP โค้งแรกสินเชื่อพุ่ง 31% ปรับแผนสู้โควิด-19 คาดกระทบเป้าปี 63

HoonSmartcom>> “จี แคปปิตอล” ปรับแผนสู้โควิด-19 กระทบเป้าสินเชื่อทั้งปี 63 คุมค่าใช้จ่าย ใช้เทคโนโลยีคัดคุณภาพลูกหนี้คุม NPL ด้านผลงานไตรมาส 1/63 รายได้โต 16% – ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่พุ่ง 31%

สเปญ จริงเข้าใจ

นายสเปญ จริงเข้าใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จี แคปปิตอล (GCAP) เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทฯ เตรียมปรับแผนการดำเนินธุรกิจช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจและสถานการณ์ภายในประเทศ โดยอาจจะกระทบเป้าการปล่อยสินเชื่อปี 2563 จากเดิมเตรียมปล่อยสินเชื่อที่ 1,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว อีกทั้ง บริษัทพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของบริษัท

นายสเปญ กล่าวต่อว่า หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จบลงอย่างรวดเร็ว และไม่ยืดเยื้อไปจนถึงช่วงครึ่งปีหลัง คาดการณ์ธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 3 และ ไตรมาส 4 โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นในการทำการเกษตร และบริษัทจะพยายามควบคุมตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไว้ไม่เกิน 4% จากปีก่อน 5-6%

สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯในงวดไตรมาส 1/2563 มียอดปล่อยสินเชื่อใหม่รวมจำนวน 374 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากงวดเดียวกันของปีก่อน สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อร้อยละ 70 สินเชื่อส่วนบุคคลและนิติบุคคลร้อยละ 30

งบการเงินเฉพาะกิจการ บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 97.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.30 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมจำนวน 83.88 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยรับสินเชื่อเงินกู้ทั้งส่วนบุคคลและนิติบุคคล รวมถึง รายได้ปรับล่าช้าจากสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน ส่วนกำไรสุทธิมีจำนวน 1.77 ล้านบาท ลดลง 7 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 80 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8.76 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น มีขาดทุนจากการด้อยค่าและต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น โดยในปีนี้ บริษัทฯ ได้นำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) และฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่า (TFRS 16) มาปฏิบัติ ให้เป็นมาตรฐาน

ทั้งนี้ เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพธุรกิจการปล่อยสินเชื่อของบริษัทฯ จึงต้องพิจารณาในงบการเงินเฉพาะกิจการ เนื่องจากในงบรวมไตรมาสนี้ มีบริษัทร่วมค้าที่ยังไม่ดำเนินธุรกิจใดๆ ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เข้ามาแสดงเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียในงบเพิ่มเติม บริษัทฯ จึงมีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในการร่วมค้าจำนวน 2.70 ล้านบาท ในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ อย่างไรก็ดี บริษัทดังกล่าวอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อจัดทัพขยายธุรกิจการปล่อยสินเชื่อให้สอดรับกับโลกยุคดิจิทัลในอนาคต

“ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้มีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดการจัดเก็บค่างวดบางส่วน” นายสเปญ กล่าว