HoonSmart.com>> เศรษฐกิจไตรมาส 1 ดีเกินคาด ไตรมาส 2 หนักแน่ สภาพัฒน์คาดปีนี้หดตัว -6% ถึง -5% แบงก์กรุงไทยกดลึก -8.8 % เศรษฐกิจถดถอย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมอง -5% นักวิเคราะห์ฟันธงกดดันให้ กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุม 20 พ.ค. ซ้ำเติมแบงก์ใหญ่ เตือนราคาหุ้นไทยไม่ถูก บล.ดีบีเอสฯ เสนอกลยุทธ์ตัดขาดทุน หากลงต่ำกว่า 1,280 จุด รอซื้อแถว 1,230 เน้นพื้นฐาน-มีข่าวดีหนุน บล.โนมูระพัฒนสินเตือนให้ระวัง บล.เอเซียพลัสมองดอกเบี้ยดีต่อกลุ่มเช่าซื้อ อสังหาริมทรัพย์ หุ้นปันผล แบงก์ชาติคาด NPLs เพิ่มต่อเนื่อง สินเชื่อธุรกิจโต
วันที่ 18 พ.ค. 2563 ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มองเศรษฐกิจฟื้นตัวหนุนหุ้นโลกบวก ส่วนไทย GDP ไตรมาสแรก หดตัว -1.8% น้อยกว่าที่ตลาดคาด -4.0% และราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นหนุนหุ้นกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี ส่งผลให้ดัชนีหุ้นบวก 5.77 จุด ปิดที่ 1,286.53 จุด
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/2563 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลง -1.8% เทียบกับการขยายตัว 1.5% ในไตรมาสที่ 4/2562 จากตลาดคาดการณ์ -4.5% ถึง -3.8%
แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 คาดว่าจะลดลง -6 ถึง -5% บนสมมติฐานเศรษฐกิจโลกจะลดลง -2.8% ปริมาณการค้าโลกลดลง -10% อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ระดับ 31.80-32.80 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ระดับ 33-43 ดอลลาร์/บาร์เรล ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์จะลดลง -2.5%
” เศรษฐกิจโต-1.8% ถือว่าเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 1/2557 ที่ GDP อยู่ที่ระดับ -0.4% หรือเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปี คาดไตรมาส 2 จะหนักที่สุด ส่วนในปีนี้คาดไว้ในช่วง -6 ถึง -5% มีค่ากลางที่ -5.5% อยู่บนสมมติฐานการแพร่ระบาดของโควิดในไทยไม่เกินไตรมาส 2 ไม่มีการระบาดรอบสอง มาตรการผ่อนคลายจะเริ่มต้นได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 และจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาส 3 และการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาในช่วงไตรมาส 4 ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นในลักษณะ U “นายทศพรกล่าว
นายมานะ นิมิตรวานิช และน.ส.พิมฉัตร เอกฉันท์ Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินว่า เศรษฐกิจปี 2563 อาจหดตัวราว -8.8% แม้ว่าไตรมาสแรกจะหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดที่ -3.9% แต่จะหดตัวลึกสุดในไตรมาสที่ 2 ก่อนที่เศรษฐกิจจะลดน้อยลงในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามลำดับ เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเต็มตัว อย่างไรก็ตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 20 พ.ค.นี้ คาดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.75% และมีโอกาสลดลง 1 ครั้งในไตรมาส 2 นี้
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด GDP ไตรมาส 2 หดตัว -10% ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปี 63 หดตัวราว -5.0% หากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงอีกระลอก คาดครึ่งปีหลังเศรษฐกิจอาจเป็นบวกได้ เนื่องจากมีการปลดมาตรการล็อกดาวน์
นักวิเคราะห์ประสานเสียง GDP ลดลง-1.8% ในไตรมาสแรกและมีสัญญาณหดตัวแรงต่อเนื่อง กดดันให้ที่ประชุม กนง.วันที่ 20 พ.ค.นี้มีโอกาสสูงที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.50% แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เพราะจะมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ตาม กนง. ซ้ำเติมจากก่อนหน้านี้มีการปรับลดอกเบี้ยเงินกู้ลงทุกประเภท 0.40% ส่งผลกระทบต่อกำไรในไตรมาส 2
นางอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดคาดว่ามีโอกาส 70% ที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยลง 0.25% เป็น 0.50% ในการประชุมวันที่ 20 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นลบกับหุ้นแบงก์ในระยะสั้น
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมูลค่าของหุ้นไทยขึ้นมาอยู่ในโซนแพงแล้ว ดัชนีที่ระดับ 1,280 จุด เทรดบน P/E ปีนี้ที่ 18.2 เท่า อิงสมมติฐานกำไรต่อหุ้น -22% และปีหน้าจะเพิ่มขึ้น 15% และนักวิเคราะห์ยังมีโอกาสปรับลดประมาณการ บจ.ลง หลังจากไตรมาส 1/2563 หดตัวแรง -65%จากระยะเดียวกันปีก่อน -52%จากไตรมาส 4 โดยหลักมาจากผลขาดทุนของกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี แต่ถ้าไม่รวม 2 กลุ่มนี้กำไรสุทธิจะ -27% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ส่วนกำไรธุรกิจไฟแนนซ์ (สินเชื่อจำนำ) อาหาร สื่อสาร บรรจุภัณฑ์ ดีกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น เพราะตอบรับ New Normal ช่วงโควิด-19
นางอาภาภรณ์แนะกลยุทธ์การลงทุนว่า หุ้นที่ระดับ 1,280 จุด ถือว่าไม่ได้ถูก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลกำไรบจ.ต้องใช้เวลากว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ ดังนั้นการเล่นรอบ หรือลงทุนยังคงต้องระมัดระวังสูง ในยามที่ Upside gain ค่อนข้างจำกัด ให้ระดับ 1,280 จุด เป็นจุดตัดขาดทุนหากดัชนีลงไปต่ำกว่านี้ ส่วนรอซื้ออ่อนตัวรอเด้งมีแนวรับแถว 1250, 1230, 1,200 จุด
บล.โนมูระ พัฒนสินมองหุ้นไม่ถูก ลดพอร์ตลงทุนถือเพียง 30% เพิ่มความระมัดระวังใช้ระดับ 1,273/1,250 จุด เป็นจุดหมุนออก
บล.เอเซียพลัสคาดลดดอกเบี้ยรอบนี้ เป็นบวกต่อกลุ่มเช่าซื้อ, อสังหาริมทรัพย์, หุ้นปันผล
นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อานวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดาเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/2563 ว่า สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 4.1% โดยสินเชื่อธุรกิจ (64.8% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 3.3% ตามความต้องการใช้สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายประเภทธุรกิจ ทำให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.3% ส่วนสินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวเล็กน้อยที่ 0.2% สินเชื่ออุปโภคบริโภค (35.2% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 5.6% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนในทุกประเภท ทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตชะลอตัวลงมากและสินเชื่อส่วนบุคคลยังเติบโตได้ในอัตราที่ค่อนข้างสูง
สำหรับคุณภาพสินเชื่อด้อยลงจากสิ้นปี 2562 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การจัดชั้นตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 4.96 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.05% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ในระดับ 2.98% แนวโน้ม NPL จะปรับสูงขึ้น แต่จะมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นกับมาตรการที่เข้าไปช่วยเหลือจะเพียงพอหรือไม่
นายธาริฑธิ์ กล่าวว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง ทั้งเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความต้องการสินเชื่อและความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ ผ่านประโยชน์ที่ได้จากการปรับลดด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่าง ๆ ให้กับภาคธุรกิจและประชาชนในระยะถัดไป หากไม่รวมผลของการปรับลดเงินนำส่ง FIDF และการปรับมาตรฐานบัญชีใหม่ พบว่า NIM ทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน