สินเชื่อแบงก์เบ่งบาน SCB จัดพิเศษ AWC 3 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>>แอสเสท เวิรด์ฯเซ็นสัญญาธนาคารไทยพาณิชย์ จัดโปรแกรมสินเชื่อรูปแบบใหม่ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เหมาะสำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ขายเสร็จนำกระแสเงินสดหรือออกหุ้นกู้มาคืน ไปหมุนเวียนลงทุนโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่วนสถานการณ์ล็อกดาวน์ทำธุรกิจหมุนเงินไม่คล่อง บริษัทหลายแห่งขอวงเงินกู้จากแบงก์เตรียมพร้อม บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา คาดจะได้รับการสนับสนุนอย่างน้อย 4,000-5,000 ล้านบาท

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ( AWC) ของ”ครอบครัวสิริวัฒนภักดี” เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญากับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพื่อเดินหน้าจัดโปรแกรมสินเชื่อรูปแบบใหม่ Revolving Development Credit Program – Cum Debenture (RDPD) ซึ่งเป็นโปรแกรมสินเชื่อหมุนเวียนที่เหมาะสำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ โดยสามารถเบิกถอนวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้สำหรับลงทุนพัฒนาก่อสร้าง และเมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจนสามารถรับรู้รายได้ AWC สามารถนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหรือการออกหุ้นกู้มาชำระคืนสินเชื่อหมุนเวียนตามโปรแกรมดังกล่าว ส่งผลให้ AWC สามารถเบิกถอนวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้พัฒนาโครงการได้ต่อไป โปรแกรม RDPD นี้ เป็นรูปแบบที่ธนาคารต่างๆ สามารถเข้าร่วมได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเติบโตไปกับ AWC อย่างยั่งยืนในระยะยาว

“การริเริ่มโปรแกรมสินเชื่อรูปแบบใหม่ในครั้งนี้ AWC มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งแสดงถึงนวัตกรรมทางการเงินที่เข้าถึงความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ด้วยการเป็นผู้จัดการระดมเงินกู้ ของวงเงินสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท เห็นถึงความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงแผนเติบโตแบบก้าวกระโดดของ AWC เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับเศรษฐกิจ สังคม และประเทศไทยโดยรวม “นางวัลลภากล่าว

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของ AWC โดยเฉพาะผลการดำเนินงานที่สะท้อนกลยุทธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่งท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ยังสามารถบริหารค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้กับธุรกิจได้อย่างน่าประทับใจ ธนาคารมีความยินดีที่ได้สนับสนุนวงเงินสินเชื่อ 30,000 ล้านบาทในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุน AWC ในการเตรียมความพร้อมทางธุรกิจ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

สำหรับความสำเร็จของโปรแกรม RDPD นี้ เกิดขึ้นจากพื้นฐานทางธุรกิจของ AWC ในฐานะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)อันดับที่ 19 ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ณ ราคาปิด 13 พ.ค. 2563) ด้วยสินทรัพย์รวม วันที่ 31 มีนาคม 2563 มูลค่า 124,921.4 ล้านบาท และมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง และความพร้อมในการพัฒนาโครงการศักยภาพเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่ง มีผู้ถือหุ้นหลักอย่าง ทีซีซี กรุ๊ป ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของครอบครัว สิริวัฒนภักดีและ GIC Private Limited กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลกที่มุ่งเน้นลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นหลัก และล่าสุด AWC ได้เข้าคำนวณในดัชนี Morgan Stanley Capital International: MSCI ซึ่งเป็นดัชนีมาตรฐานในการชี้วัดผลตอบแทนการลงทุนที่ได้รับความเชื่อถือและเป็นที่นิยมแพร่หลายในระดับสากล โดยจะมีผลในวันที่ 29 พ.ค. 2563

นอกจากการจัดโปรแกรมพิเศษสำหรับ AWC แล้ว ปัจจุบันบริษัทไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก ต่างประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องตึงตัว เมื่อธุรกิจถูกล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 และยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อไปนานเพียงใด จึงต้องเตรียมสภาพคล่องไว้ให้พร้อม อาทิ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) ซึ่งประสบปัญหาขาดทุน 45 ล้านบาทในไตรมาส 1/2563 หลังจากโรงแรมส่วนใหญ่ต้องปิดการให้บริการ มีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่เปิดดำเนินงาน จึงต้องบริหารจัดการสภาพคล่อง ขอวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนในวงเงินประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย เพื่อรองรับรายจ่ายที่จำเป็นในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากการแพร่ระบาดของโควิดยังไม่คลี่คลายจนถึงสิ้นปี