AU กำไรวูบ 78% พิษโควิด ลดจำนวนเปิดสาขา-ปรับเมนูไซส์เล็ก

HoonSmart.com>> “อาฟเตอร์ ยู” อ่วมพิษโควิด ฉุดกำไรไตรมาส 1/63 วูบ 78% เหลือ 13 ล้านบาท ปรับแผนเปิดสาขาใหม่จากเดิม 6 สาขา เหลือ 2-3 สาขาลงทุนก่อสร้างแล้ว พร้อมปรับเมนูขนาดเล็กลงรับ Social Distancing ออกแบบบรรจุภัณฑ์สะดวกขนส่ง รับพฤติกรรมผู้บริโภคสั่งซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้น

บริษัท อาฟเตอร์ ยู (AU) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 กำไรสุทธิ 13.30 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.02 บาท ลดลง 78% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 59.68 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.07 บาท

กำไรสุทธิลดลงเป็นผลจากบริษัทฯ มีรายได้จากการขายจำนวน 219 ล้านบาท ลดลง 24% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้จากร้านขนมหวาน ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนคนเดินห้างสรรพสินค้าที่ลดลงและการบริโภคภาคครัวเรือนที่อ่อนตัวลงจากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการประกาศมาตรการปิดพื้นที่เสี่ยงเช่น ห้างสรรพสินค้า ในช่วงปลายเดือนมี.ค.2563 ซึ่งปรับตัวลดลง 78% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่กำไรขั้นต้นมีมูลค่า 137 ล้านบาท ลดลง 27% จากงวดเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวลดลง 2.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณของเสียจากสต๊อกที่หมดอายุเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากมาตรการปิดห้างสรรพสินค้าอย่างกระทันหัน ประกอบกับการให้ส่วนลดเพื่อกระตุ้นยอดขายในปลายเดือนมี.ค.2563

EBITDA ของบริษัทฯ มีมูลค่า 58 ล้านบาท ลดลง 36% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของยอดขายร้านขนมหวาน ขณะที่อัตรากำไรสุทธิปรับตัวลดลง 15% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการถดถอยของยอดขายร้านขนมหวานในไตรมาส 1 ปี 2563 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากนโยบายประหยัดต้นทุน เช่น การควบคุมจำนวนพนักงานในแต่ละแผนก และการได้รับยกเว้นค่าเช่า จะมีผลในไตรมาส 2 ปี 2563

สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2563 มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่เติบโตลดลงและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคซึ่งนิยมการสั่งอาหารจากช่องทางออนไลน์มากขึ้น จากเดิมจะเปิดสาขาใหม่ 6 สาขา ก็จะเปิด 2-3 สาขาที่ได้ลงทุนสร้างเรียบร้อยแล้วต่อไป หากจำนวนคนเดินห้างสรรพสินค้ากลับเท่าสู่ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด ส่วนสาขาเป้าหมายที่เหลือยังอยู่ในช่วงการต่อรอง และเลื่อนไปถึงต้นปีหน้า หรือเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย

อย่างไรก็ตามหลังการแพร่ระบาดที่คาดว่าจะกินระยะเวลานานและธุรกิจบริการส่งอาหารอยู่ในช่วงขาขึ้น ทีมวิจัยและพัฒนาของบริษัทฯ ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่สามารถช่วยให้บริษัทฯ ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการขนส่ง ในปัจจุบันทีมวิจัยและพัฒนาให้ความสำคัญกับสินค้าแช่แข็งเพราะง่ายต่อการขนส่ง

นอกจากนี้ สำหรับสินค้าประเภทซื้อกลับบ้าน บริษัทคาดว่าอาจเปลี่ยนขนาดหน่วยบริโภคของเมนูที่ทานในร้านให้เล็กลงจากกระแสการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และเมนูขนาดใหญ่ที่ทานร่วมกันคาดว่าน่าจะได้รับความสนใจลดลง