SCBAM : ครม.มีมติขยายระยะเวลาเคอร์ฟิวเพิ่มอีก 1 เดือน

SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 4-8 พ.ค. 2563

“ครม. มีมติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเพิ่มอีก 1 เดือน”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังคงปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกยังคงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางนโยบายการเงินและการคลังอย่างเต็มกำลัง หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 นอกจากนี้ในบางประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศแถบทวีปยุโรป ประเทศจีน และเกาหลีใต้ เริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ทำให้ประเทศเหล่านั้นเริ่มมีแผนการที่จะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง อย่างไรก็ตามคาดว่าความเสี่ยงจากผลกระทบของไวรัส COVID-19 ยังมีค่อนข้างมาก อาจทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวและฟื้นตัวได้ค่อนข้างจำกัด

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ประกาศออกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เพิ่มวงเงินการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะยาว (Corporate bond) และระยะสั้น (Commercial Paper) อย่างละ 7.5 ล้านล้านเยน ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2020 พร้อมกับผ่อนคลายเงื่อนไขโครงการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อีกทั้งยังยกเลิกเพดานการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ 80 ล้านล้านเยนต่อปี เพื่อลดทอนผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเพิ่มเติม โดยในวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา ครม. เห็นชอบที่จะขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติมจนถึงวันที่ 31 พ.ค. และออกมาตรการบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 เพิ่มเติม พร้อมกับให้เงินช่วยเหลือผู้ที่รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ รับจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว กิจการส่วนตัว กรมปศุสัตว์ กรมประมงและเกษตรกร

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค. ของไทยหดตัว โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานว่าดัชนี MPI ปรับตัวลดลงจาก -5.2%YoY ในเดือนก.พ. มาอยู่ที่ -11.3% YoY ในเดือนมี.ค. เนื่องจากสินค้าบางประเภทมีการผลิตลดลงไปมาก ได้แก่ น้ำตาล รถจักรยานยนต์ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก และปิโตรเลียม

FED ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมและคงการทำ QE แบบไม่จำกัด ซึ่งการประชุม FED ครั้งที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% และระบุว่าดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับแบบนี้ต่อไปจนกว่าจะมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ พร้อมกับระบุว่าจะยังเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งพันธบัตรรัฐบาล (Treasury) และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ซึ่งออกโดยหน่วยงานภาครัฐ (Agency Mortgage-Backed Securities: AMBS) อย่างต่อเนื่อง

ดัชนี PMI ภาคการผลิตของทางการจีนเดือน เม.ย. ปรับตัวลดลง โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลง -1.2 จุด เป็น 50.8 จุด เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่ยังคงอ่อนแอเหตุจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ขณะที่ดัชนีภาคการบริการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.9 จุด ขึ้นมาสู่ระดับที่ 53.5 จุด เนื่องจากภาคการก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น

กลยุทธ์การลงทุน

ปรับคำแนะนำจากลดน้ำหนักการลงทุนเป็นคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น