SCC กำไร 6,971 ลบ. ร่วง 40% Q1/63 -หั่นงบลงทุน1 หมื่นลบ.ขายหดตัวเกิน 6%

HoonSmart.com>>ปูนซิเมนต์ไทย ยอมรับไตรมาส 2 ได้รับผลกระทบจากโควิดหนักขึ้น ธุรกิจปิโตรเคมี เจอความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ซ้ำเติมความต้องการลดลง ลุ้นกำลังซื้อจีนกลับมาเร็ว แพคเกจจิ้งโตตามออนไลน์ ปรับลดเป้าหมายทั้งปี จากเดิมคาดยอดขายทรงตัวเป็นหดตัวมากกว่า 6% ลดงบลงทุน 1 หมื่นล้านบาท เหลือ 5.5-6.5 หมื่นล้านบาท เดินหน้าโครงการจำเป็น ระมัดระวังการซื้อกิจการ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ใช้กลยุทธ์ปรับตัวเร็ว ใช้เทคโนโลยีตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปทันสถานการณ์  มีเงินสดในมือค่อนข้างเยอะ ไม่ขอรับความช่วยเหลือซื้อหุ้นกู้ของธปท.

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCC) แถลงผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 1/2563 มีกำไรสุทธิ 6,971 ล้านบาท ลดลง 4,691 ล้านบาท คิดเป็น 40.22% เมื่อเปรียบเทียบกับที่มีกำไรสุทธิ 11,662 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลงเพียง 2% จากไตรมาส 4/2562

กำไรที่ลดลงมาก มาจากรายได้จากการขาย 105,741 ล้านบาท ลดลง 6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ลดลง

” เราพยายามรักษากำไรให้ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าธุรกิจในเดือนมี.ค.ได้รับกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายลดลง 6 % ซึ่งจะต้องปรับเป้าหมายยอดขายของปีนี้ใหม่ แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะลงเท่าไร รู้ว่าโควิดจะอยู่กับเรานาน แต่ไม่รู้ว่านานเพียงไหน แนวโน้มในไตรมาส 2 จะได้รับผลกระทบมากขึ้น แต่จะมีผลต่อธุรกิจของเราแตกต่างกัน ”

ธุรกิจปิโตรเคมี ในไตรมาส 1 ความต้องการของจีนหายไปเกือบทั้งไตรมาสขณะที่ราคาขายยังไม่กระทบมาก แต่ไตรมาส 2 ราคาผันผวนและลดลงตามต้นทุนน้ำมัน และนาฟตา จะต้องดูว่าในไตรมาส 2 และ 3 ความต้องการของตลาดจีนจะกลับมาแค่ไหน แต่ยอมรับว่ามีความท้าทายอยู่มาก

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ยังไปได้ โดยเฉพาะของที่ใช้ ใส่อาหาร ส่วนกลุ่มแฟชั่น จะมีผลในระยะต่อไป กลุ่มยานยนต์ยังมีผลกระทบค่อนข้างมากในระยะต่อไป ส่วนปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง บริษัทมีเครือข่ายต่างประเทศ สามารถส่งของได้ แม้ว่าความต้องการในประเทศชะลอลงก็ตาม

นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า สถานการณ์โควิดกระทบไปทั่วโลก บริษัทบริหารจัดการเชิงรุกและการปรับตัวมีความต่อเนื่อง ปรับกลยุทธ์ในการทำงานให้มีความเข้มข้นต้องเอาศักยภาพ และเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้การทำงานของพนักงานกว่า 90% สามารถทำงานได้ที่บ้าน ส่วนซัพพลายเชน ก็สามารถตอบโจทย์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ขายบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ธุรกิจซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง เหมือนสินค้าทั่วไป พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปมาก จากมาซื้อที่ร้านและรับของ ตอนนี้สั่งออนไลน์ SCG HOME ได้รับกระทบตอยบรับอย่างชัดเจน สามารถคาดหวังวาจะได้ของทันที หรือตามช่วงเวลาที่ต้องการใช้ ระบบโลจิสติส์ จะต้องตอบโจทย์ตรงนี้ด้วย บริษัทต้องมีความยืดหยุ่นในการผลิตและส่งมอบสินค้าซัพพลายเชนไม่ต้องการสต็อกสินค้าจำนวนมาก ใช้บล็อกเชน ในการวางบิล เก็บเงิน  ทำให้ยอดขายเติบโตหลายเท่าจากไตรมาสก่อน สำหรับธุรกิจปิโตรเคมี ยังคงเน้นผลิตและพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง บริษัทพยายามทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจ้างงาน และปัจจุบันลดกำลังการผลิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ด้านนายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน  SCC  กล่าวว่า สถานการณ์การเงินของบริษัทมีความเข้มแข็ง เน้นการบริหารกระแสเงินสด บริษัทมีเยอะ เพียงพอในการชำระหนี้และลงทุน ไม่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือในการซื้อหุ้นกู้ของธนาคารแห่งประเทศไทย สถานการณ์ยังคงลำบากและท้าทายต่อเนื่องไปอีกสักพัก เน้นในเรื่องความปลอดภัย ลดค่าใช้จ่าย และลดการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตัดค่าใช้จ่ายบางส่วน หากเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ก็ชะลอไปก่อนได้ ถ้าเป็นโครงการลงทุนที่เป็นประโยชน์จริง ก็เก็บเอาไว้ โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กเวียดนาม ยังคงเดินหน้าลงทุนต่อไป  มีความคืบหน้า  33-34%  เพราะเวียดนามได้รับผลกระทบจากโควิดน้อย เศรษฐกิจมีการเติบโต ต่างชาติยังคงเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง

บริษัทมีการทบทวนแผนลงทุน จากเดิมตั้งงบประมาณไว้ประมาณ  6-7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะลดลงประมาณ   1 หมื่นล้านบาท น่าจะอยู่ที่ 5.5-6.5 หมื่นล้านบาท   หากมีความจำเป็นยังมีโอกาสปรับลดต่อ ทำตามสเตป ด้วยความระมัดระวัง  เช่นเดียวกับการซื้อกิจการ  ก็ต้องระมัดระวัง  ถ้าโครงการเป็นกลยุทธ์ และมีผลระยะยาว ช่วงนี้ยังมีความเป็นไปได้ โดยบริษัทมีเงินในมือค่อนข้างสูง สามารถรอบรับสถานการณ์ไม่แน่นอนได้

ขณะเดียวกันมีการลดสินค้าคงคลังลง 3-5% ต้องมีการบริหารเครดิตและความเสี่ยงทางบัญชีเพิ่มขึ้น เพราะสถานการณ์ซัพพลายเชนและลูกค้าแต่ละกลุ่มมีความเข้มแข็งแตกต่างกัน สำหรับค่าใช้จ่ายทางการเงิน ในไตรมาส 1 จำนวน 3,100  ล้านบาทแต่มีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 1,300 ล้านบาท คงเหลือต้นทุนเพียง 1,800 ล้านบาท

ส่วนการนำบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP)ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น  ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตจากก.ล.ต. แต่ยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการออกไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ให้กับนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุน แม้จะมีการให้ข้อมูลผ่านทางวีดีโอคอนเฟอเร้นซ์แต่ก็สามารถสร้างความเข้าใจได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ทำให้การสร้างความเข้าใจและการทำการตลาดก็อาจจะต้องล่าช้าออกไปบ้าง