สัมภาษณ์พิเศษ : DOD หุ้นนวัตกรรม ‘ศุภมาส’ คอนเนกชั่นดี สินค้าไม่มีทางตัน

บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค (DOD) ผู้นำด้านการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดจากธรรมชาติ และให้บริการลูกค้าครบวงจร พร้อมที่จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ในวันพุธที่ 20 มิ.ย. 2561 นี้ หลังจากประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) จำนวน 110 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 9.30 บาท

“ศุภมาส อิศรภักดี” ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ DOD เปิดโอกาสให้ “Hoonsmart.com” สัมภาษณ์ถึงความมั่นใจในหุ้น DOD ว่า เป็นหุ้นเติบโต หรือ Growth Stock บริษัทเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรม มีทีมข้างนอก คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ส่วนการขยายธุรกิจแต่ละโครงการ บริษัทต้องผ่านการทดสอบให้ชัวร์ก่อนถึงจะก้าวเดินไปข้างหน้า

“เราจะไม่ใช้เงินของผู้ถือหุ้นมา(ทด)ลอง” ศุภมาส กล่าว

นอกจากนั้น “ศุภมาส” ยังนำประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานกับบริษัทอะโรเมติกส์ เครือปตท. ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นเวลา 4 ปี ในตำแหน่งสุดท้าย เป็นผู้จัดการส่วนงานจัดซื้อเครื่องจักรและเคมีภัณฑ์ ในเรื่องการคิดต่อยอดธุรกิจให้ครบวงจร และการทำงานอย่างมืออาชีพ จึงเป็นที่มาของการเพิ่มช่องทางสร้างรายได้จากปัจจุบันมี 1 ธุรกิจเพิ่มเป็น 5 ช่องทางในอนาคต

แม่ทัพใหญ่ DOD เล่าให้ฟังว่า การเติบโตของบริษัท เริ่มตั้งแต่แนวคิดเลือกธุรกิจของบริษัท ดีโอดี ไบโอเทค เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา หลังจากเลิกเป็น สส. อายุเกือบ 40 ปี มีลูกน้องทางการเมืองมาอยู่ด้วยหลายคน ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี จนมาคิดออกว่าการรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดจากธรรมชาติ เป็นทั้งเรื่องของอาหารและยารักษาโรค คือ 2 เรื่องในปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต และคนไทย โดยเฉพาะผู้สูงอายุใส่ใจในเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น มีกำลังซื้อสินค้า และลูกหลานซื้อให้ด้วย ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ไม่ยาก

และที่สำคัญธุรกิจ DOD ที่เติบใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ได้ เพราะการใส่ใจและให้น้ำหนักเรื่องคุณภาพในทุกเรื่อง ทำให้สินค้ามีคุณภาพ รวมถึงการนำความรู้ที่ได้จากการเรียนมา ในภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ระดับปริญญาตรี และการบริหารโรงงาน ในระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสร้างโรงงานของบริษัทมีมาตรฐานสูงกว่าที่กฎหมายอย.กำหนดไว้ บริษัทไม่ได้ขอ ISO 9000 แต่ขอ ISO 14000 เรื่องสิ่งแวดล้อมและ ISO 22000 เรื่องความปลอดภัยของอาหาร เราจับโรงงานอาหารและยาเป็นต้นแบบ ทุ่มเทกำลังทุนในเรื่องเครื่องจักรและบุคคลากร แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงงานที่สูงกว่าเป็นหลักร้อยล้านบาทก็ตาม มีห้องปลอดเชื้อ เหมือนห้องผ่าตัด ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องโรงงานถูกปิด

“เราผลิตสินค้าที่เป็นการบริโภค ไม่ใช่อุปโภค เราเข้มงวดตั้งแต่แรกเริ่ม ทำทุกอย่างให้ถูกกฎระเบียบ ถูกกฎหมาย ไม่แน่ใจต้องหารือที่ปรึกษากฎหมาย ส่วนตัวเป็นคนละเอียด ในสมัยทำงานทางการเมือง จะต้องตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดก่อนเซ็นชื่อ เพื่อไม่ให้มีปัญหา แต่ยอมรับว่าทุกธุรกิจมีความเสี่ยง ได้รับผลกระทบจากผู้บริโภค จึงจะต้องระมัดระวังให้มากที่สุด”

เมื่อทุกอย่างพร้อม DOD ในช่วงเริ่มต้น ก็ต้องมีการเรียนถูกเรียนผิดเหมือนกัน ไม่ใช่สำเร็จทุกเรื่อง เริ่มจากการรับจ้างผลิตให้เป็นไปตามสูตรและส่วนประกอบสารอาหารตามที่ลูกค้ากำหนดไว้ หลังจากนั้นได้ขยายการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าทั่วไปและเริ่มรับจ้างพัฒนาและผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพ (ODM) เพื่อให้บริการครบวงจรโดยใส่นวัตกรรมที่บริษัทพัฒนาเข้าไปในการผลิตสินค้า สร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่ม

“ลูกค้าแค่บอกเราว่าต้องการสูตรแบบไหน จะวางตลาดขายเมื่อใด เราทำให้ทั้งหมด รวมถึงการขอรับเลขสารบบอาหาร (เลข อย.)”

นอกจากนั้นบริษัทยังมีการพัฒนาตราสินค้าของบริษัทเองอีก 2 แบรนด์ เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้สูงอายุ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพรตรีผลา เป็นยาบำรุงอายุวัฒนะ โดยขอซื้ออนุสิทธิบัตรจากมหาวิทยาลัย มหาสารคาม หลังจากบริษัททดลองผลิตและจำหน่าย โปรตีนไดเอทตรา Dai a to (ได เอ โตะ) มา 2 ปี รายได้เพิ่มขึ้นตลอด ทำให้เกิดความมั่นใจในการออกผลิตภัณฑ์แบรนด์ของบริษัทเอง

เผย “จุดแข็ง”เพียบ

“ศุภมาส” ยังเล่าอีกว่า จุดแข็งของธุรกิจ DOD คือ การรับจ้างผลิตรวมถึงการพัฒนาสินค้าให้กับลูกค้า โรงงาน DOD เป็นเจ้าของใบอนุญาต ตามระเบียบของอย. ลูกค้าย้ายโรงงานผลิตไม่ได้ เอาสูตรไปไม่ได้

นอกจากนั้น บริษัทยังมีจุดแข็ง เรื่องนโยบายการเก็บเงิน ลูกค้าต้องจ่ายก้อนแรก 50% ในการจ้างพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ ส่วนที่เหลืออีก 50% ชำระเมื่อมารับสินค้า ทำให้ไม่มีหนี้เสีย และสามารถรับรู้รายได้ภายใน 1 เดือน

ขณะเดียวกันบริษัทมีฐานลูกค้ากว้าง ทั้งระดับบน ระดับกลาง และกระจายหลายอาชีพ ภาวะเศรษฐกิจไม่มีผลกระทบ ลูกค้ากลุ่มใหญ่ ประมาณ 68% เป็นแม่ค้าอาชีพ ทำให้มีออเดอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน DOD ยังมีพันธมิตร รวมถึงเครือข่ายภายนอกบริษัท (outsource) ที่เป็นอาจารย์ ที่ปรึกษา นักวิจัย มีห้องแลปทดลองคิดค้นงานวิจัย การพัฒนานวตกรรมใหม่ๆ เช่น สารบางอย่าง กินเข้าไปแล้วร่างกายดูดซึมได้เต็มที่ รวมถึงการผลิตสินค้าออกมาในรูปของเจล ทำให้บริโภคง่ายขึ้น ซึ่งการได้งานวิจัยต่างๆ ช่วยลดต้นทุนเวลาในการสร้างสรรผลิตภัณฑ์ของบริษัท และงานวิจัยเป็นเรื่องที่บริษัทยากจะเข้าถึงด้วย

ส่วนการย้ายโรงงานจากเดิมมีพื้นที่ 1 ไร่ มาเป็น 17 ไร่ ปัจจุบันใช้พื้นที่แล้วประมาณ 50% ส่วนพื้นที่ว่างเปล่าใช้เป็นคลังสินค้า เก็บวัตถุดิบ สามารถเพิ่มอำนาจต่อรองในการสั่งซื้อสินค้าได้ราคาถูกลง

สำหรับการสร้างโรงงานสกัด แห่งที่ 2 ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและครบวงจร เพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดเป็นผง น้ำมันระเหย ไม่ได้ใช้น้ำหรือแอลกอฮอล์เหมือนโรงสกัดแห่งที่ 1 ทำให้ไม่มีส่วนสูญเสียในเรื่องน้ำ หรือมีแอลกอฮอล์ตกค้างในร่างกาย

DOD เป็นเจ้าแรกที่สกัดผงสมอไทย มะขามป้อม ขายในวงกว้างในรูปแคปซูล

ทำไมประเทศไทย ต้องนำเข้าสารสกัดพริกมาจากอินเดีย กระชายดำจากญี่ปุ่นด้วย ประเทศไทยมีวัตถุดิบมาก บริษัทจับมือเกษตรกร ทำการเกษตรแบบมีสัญญา (Contract Farming) บริษัทร่วมกับเกษตรกรทำสัญญา

บริษัทสกัดเองได้ ช่วยลดต้นทุนถึง 50% และยังสามารถขายได้อีกด้วย คาดว่าจะสร้างรายได้ที่ดี เมื่อรับจ้างสกัดและส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศ

บริษัทยังใช้เงินจากไอพีโอ มาสร้างห้องปฎิบัติการ ISO 17025 เอาไว้ตรวจสารที่สกัดออกมาได้ เช่น โลหะหนัก เช่นเดียวกันบริษัทจะรับจ้างตรวจสอบหาสารตกค้างให้กับหน่วยงานของรัฐและเอกชนด้วย สร้างรายได้ที่ดีในระยะยาว

“เรายังเป็นปลาตัวน้อยแหวกว่ายอยู่ในห้วงมหาสมุทร DOD ไม่ได้เดินตามลำพัง เราเดินพร้อมบีโอไอ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 2 ใบ และรัฐบาลยังให้การสนับสนุน ในแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย เราไม่ได้เดินไปโดยไม่ได้คิด งานวิจัยและนิตยสารต่างประเทศประเมินมูลค่าตลาดสมุนไพรสูงมากถึง 2 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปี และมีโอกาสเติบโตขึ้นอีกเยอะ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของ DOD ส่วนเรื่องหุ้น แม้ว่าจะเข้ามาซื้อขายในจังหวะตลาดไม่ดีนัก แต่บริษัทรอไม่ได้ ต้องการเงินเพื่อใช้ลงทุนตามแผนพัฒนาธุรกิจ โอกาสนี้อาจจะโอกาสที่ดีสำหรับการซื้อหุ้นเพื่อการลงทุนในระยะยาวก็ได้” ศุภมาส กล่าวทิ้งท้าย