โนมูระคาดบีโอเจขยายQE อีซีบีลดดบ.-เฟดนิ่งยังไม่ลงติดลบ

HoonSmart.com>> 3 ธนาคารกลางประชุมในสัปดาห์นี้  โนมูระคาดธนาคารกลางญี่ปุ่นกระตุ้นเพิ่มขึ้น ผ่านการขยายมาตรการ QE และยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น  ส่วนธนาคารกลางยุโรปมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลง 0.20% สู่-0.7% ธนาคารกลางสหรัฐไม่มีอะไรเพิ่มเติม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าเฟดยังไม่จำเป็นต้องใช้ดอกเบี้ยติดลบ

บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมธนาคารกลางต่างๆ คาดจะมีการออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) วันที่ 27-28 เม.ย. โนมูระคาดจะมีการขยายมาตรการ QE ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยมีเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และไม่ระบุวงเงิน จากเดิมที่ตั้งเป้าวงเงินไว้ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี รวมถึงขยายเพดานวงเงินในการเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน และตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น อีก 2 ล้านล้านเยน จากปัจจุบันที่ 4.2 ล้านล้านเยน และ 3.2 ล้านล้านเยน ตามลำดับ จนถึงสิ้นเดือนก.ย.

ส่วนการประชุม ธนาคารกลางยุโรป(ECB) วันที่ 30 เม.ย.นี้ โนมูระคาดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.20% สู่ระดับ -0.7% และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 28-29 เม.ย. คาดไม่มีมาตรการเพิ่มเติม แต่ต้องติดตามมุมมองเศรษฐกิจ คือการรายงานจีดีพีไตรมาส 1/2563 ของสหรัฐฯ 29 เม.ย.นี้ ตลาดคาดที่ -3.7% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 2.1% และจีดีพีของยูโรโซน ตลาดคาดที่ -4.0% จากไตรมาสก่อนหน้าก่อนที่ 0.1% ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยูโรโซนในไตรมาส 1 ยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบของโรคโควิด-19 ทั้งหมด เนื่องจากการแพร่ระบาดรวมถึงการประกาศล็อกดาวน์ เกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส จึงประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2563 มีโอกาสชะลอลงต่อ ถือเป็นจิตวิทยาลบ โดยต้องจับว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐฯจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเฟดยังจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 28-29 เม.ย.นี้ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ น่าจะยังไม่มีความจำเป็นในช่วงนี้ เนื่องจากคงรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดและภาวะเศรษฐกิจหลังจากที่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไปแล้ว

นอกจากนี้ การตัดสินใจยังขึ้นอยู่กับมุมมองของเฟดต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า หากเฟดประเมินว่าจะสามารถควบคุมได้ในระยะอันใกล้ และสามารถผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็จะจำกัดในปีนี้ จะสามารถกลับมาฟื้นตัวในระดับสูงได้ในปีหน้า การปรับดอกเบี้ยเป็นอัตราติดลบจึงอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมและจำเป็น เนื่องจากจะสะท้อนมุมมองของเฟดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่ามีแนวโน้มไปในเชิงลบมากขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะก่อให้เกิดความวิตกกังวลในตลาด และมีผลต่อเสถียรภาพในภาคการเงิน

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อไปกว่าที่ประเมิน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้อ่อนแรงลงไปอีก เฟดน่าจะเลือกทำ QE เพิ่มเติมจากการประกาศวงเงินที่ไม่จำกัด เพื่อเสริมสภาพคล่องและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ควบคู่ไปกับมาตรการทางการคลังที่อาจจะมีเพิ่มเติม