EA ควงพันธมิตรเปิดตัว “กลุ่มช่วยกัน” รับมือโควิด หนุนประเทศเดินหน้าเร็ว

HoonSmart.com>>บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ร่วมมือ BERD และพันธมิตร เปิดตัว “กลุ่มช่วยกัน” ช่วยเหลือและวางแผนร่วมกันแก้ไขปัญหา รับมือโควิด  เพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ โดยใช้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดนำร่อง สร้าง “Chachoengsao Model” ซึ่งถือเป็นต้นแบบก่อนขยายไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” นวัตกรรมชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSUCOVID-19 Rapid Test ช่วยให้สามารถรู้ถึงความเสี่ยง ผู้คนที่เราเข้าใกล้ หรือสถานที่อยู่ในความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า บริษัทฯได้จับมือพันธมิตรร่วมมือกันในชื่อ “กลุ่มช่วยกัน” ตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีเจตน์จำนงว่า สมาชิกและพันธมิตรของกลุ่มช่วยกัน จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาของประเทศในรูปของกลุ่มอิสระ โดยไม่หวังผลประโยชน์ และพร้อมจะสลายตัว เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น การขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เน้นการใช้พลังสมองในการวิเคราะห์และคาดการณ์ เพื่อเตรียมการอย่างเป็นระบบ ลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้จัดการกับปัญหาในลักษณะที่จะส่งผลในวงกว้างให้มากที่สุด และลงมือปฏิบัติด้วยตนเองพร้อมกับทีมงานทั้งภายในและต่างประเทศ

สำหรับ ทีมงานของกลุ่มช่วยกัน ประกอบด้วย ผู้ที่มีประสบการณ์และความรู้ความสามารถหลากหลาย ทั้งด้านวิศวกรรมการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์และคาดการณ์ข้อมูล สถาบันการศึกษา ผู้ให้บริการข่าวสารและบันเทิง สื่อสารมวลชนทุกแขนง องค์กรอิสระและทีมงานสนับสนุนจำนวนมาก โดยวางกลยุทธ์การดำเนินโครงการไว้ 3 ส่วนใหญ่ ๆ ประกอบด้วย

1.การเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติการทางการแพทย์ เพิ่มความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการออกแบบ จัดซื้อ และติดตั้งอุปกรณ์กำจัดเชื้อโรคและเครื่องกรองอากาศ ในพื้นที่ส่วนกลางของโรงพยาบาล ห้องพักผู้ป่วยและสถานที่รองรับผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล ตลอดจนรถพยาบาล ซึ่งจะช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และบุคลากรทางการแพทย์สามารถปฏิบัติหน้าที่สำคัญได้อย่างมั่นใจ

ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายกระจายความช่วยเหลือเบื้องต้น (ระยะแรก) ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ ได้แก่ ติดตั้งเครื่องกำจัดไวรัสแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ 100 แห่ง จากเป้าทั้งหมด 1,000 แห่ง ปรับปรุงห้องผู้ป่วยติดเชื้อ 1,000 ห้อง จากเป้าทั้งหมด 10,000 ห้อง ปรับปรุงอาคารที่พักนอกโรงพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง 1,000 ห้อง จากเป้าทั้งหมด 10,000 ห้อง ปรับปรุงรถพยาบาลเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ 500 คัน จากเป้าทั้งหมด 2,000 คัน เป็นต้น

2.การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 อย่างถูกต้อง ลดโอกาสการติดเชื้อและการแพร่เชื้อลงได้ โดยสื่อสารให้แพร่หลายเป็นระยะๆ ผ่านช่องทางต่างๆ ของสมาชิกและพันธมิตร รวมถึงวิธีการป้องกันต่างๆ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้แก่โรงพยาบาลด้วย

3.เทคโนโลยีเพื่อการป้องกัน ติดตาม และประเมินความเสี่ยงของประชาชน โดยใช้ แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ที่จะทำให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น แอปพลิเคชันนี้พัฒนาโดยภาคประชาชน ประกอบด้วย กลุ่มช่วยกัน กลุ่ม Code for Public และกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระจำนวนมาก อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำแอปหมอชนะมาเป็นเครื่องมือที่จะอยู่ในโทรศัพท์มือถือของประชาชนทุกคน แบบไม่ระบุตัวตนเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและเก็บข้อมูลไว้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ระบบจะมีข้อมูลการเดินทางและวิเคราะห์ข้อมูลจากการพบปะหรือเข้าใกล้กับคนอื่น โดยมีการรายงานผลเป็นค่าสีต่าง ๆ แบบ real time ทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือนั้นรู้ความเสี่ยงของตัวเอง มีระบบเตือนความเสี่ยงไปยังผู้ใช้ มีการให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขที่เชื่อถือได้ จึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ใช้ ผู้ใกล้ชิด และปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ได้

นอกจากนี้บริษัทฯยังได้ร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและงานวิจัยเกี่ยวกับสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง และสามารถผลิตชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 ที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ในต้นทุนการตรวจที่ต่ำและรู้ผลทันที ทำให้สามารถนำชุดตรวจโควิด-19 มาใช้ตรวจสอบยืนยันโรคได้จำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงช่วยให้รู้สถานการณ์ที่แท้จริงของโรคได้และจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ

ด้านดร.ประพล มิลินทจินดา รองประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) แสดงความมั่นใจว่า แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และ “ชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19” จะเป็นเครื่องมือที่ดี ที่จะใช้ต่อสู้ป้องกัน ควบคุม กำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมกับช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ตามกลยุทธ์ของกลุ่ม “ช่วยกัน” ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางของ “THAI-PLUS MODEL” ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั่วโลกต่อไป โดยคาดว่าจะเป็นประโยชน์มหาศาลอเนกอนันต์ที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง (GDP) และความสุขด้านสุขภาพและสังคม (GHP) ตลอดจนเสถียรภาพของรัฐบาลให้กลับมามั่นคงยั่งยืนจากความร่วมมือดังกล่าว

สำหรับ”กลุ่มช่วยกัน” โดยนายสมโภชน์ อาหุนัย สมาชิกกลุ่มและพันธมิตรเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ทุกสถาบัน หน่วยงานและทุกองค์กรทั่วประเทศ พร้อมใจกันโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” มาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องมือในการติดตาม เฝ้าระวัง ประเมินผล ร่วมกันกับมาตรการทางสาธารณสุข พร้อมกับใช้ชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 ให้ครอบคลุมมากที่สุด อีกทั้งการเสริมระบบปลอดเชื้อของโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ความปลอดภัยต่อบุคลากรการแพทย์และผู้ที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลทั่วประเทศอย่างเพียงพอ ทั้งหมดนี้จะเป็นระบบนิเวศน์ที่เชื่อว่าจะทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ พร้อมๆ กับการกลับมาประกอบอาชีพ หารายได้ และใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงปกติ แม้ว่าจะยังไม่มีวัคซีนที่ได้ผล ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศได้อย่างรวดเร็วต่อไป