ชวนคิดชวนคุย : สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ในชีวิตของเราทุกวันนี้ สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไปมากและรวดเร็ว ในอดีตนั้น รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็น “ตัวกลาง” ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นเสือนอนกิน หรือเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการขึ้นบ้าง แต่ไม่ต้องผลิตสินค้าและบริการเอง ดูจะเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และมีผู้สนใจทำธุรกิจแบบนี้เป็นอันมาก

แต่ในโลกยุคใหม่นี้ คนที่เป็น “ตัวกลาง” เริ่มมีที่ยืนน้อยลง เพราะเทคโนโลยีที่เข้ามานั้น พยายามลดพื้นที่ของตัวกลางลงไปเรื่อย ๆ หากเราเคยได้ยินเทคโนโลยี blockchain ซึ่งก็คือการกระจายการเก็บข้อมูลไปยังคนทุกคนที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน (participative node) แต่มีเทคนิคการเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลในการที่จะไม่สามารถถูกแก้ไขได้ และยังมี algorithm ที่ใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องของการทำรายการที่อาศัยความยินยอมของคนทุกคนในวงธุรกิจเดียวกัน ซึ่งความยินยอมนั้นมาจากข้อมูลที่แต่ละคนมีเหมือน ๆ กันนั่นเอง

เทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่ลดความสำคัญตัวกลางลงอย่างมาก เพราะในอดีต (หรือปัจจุบัน) ตัวกลางทำหน้าที่เก็บข้อมูล และทำหน้าที่การสร้างความปลอดภัยของข้อมูลและการทำรายการต่าง ๆ ซึ่งหากเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่จริง ๆ แล้ว ตัวกลางก็คงจะหมดความสำคัญลงไปมากทีเดียว

โลกในยุคใหม่นี้ มีเทคโนโลยี blockchain เป็นตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงแบบรุนแรงเพียง 1 ตัวอย่าง เราคงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมอีกมากมาย ดังนั้น การพัฒนาธุรกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจที่แอบอิงอยู่กับบริบทเดิม ๆ อาจจะมีผลสัมฤทธิ์ในวันนี้ แต่อาจจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในวันข้างหน้า การติดตามความก้าวหน้าในความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จึงจะทำให้สามารถยืนอยู่ในโลกที่นอกจากจะมีการแข่งขันที่รุนแรงอย่างที่ไม่มีใครปรานีใครแล้ว ยังต้องเตรียมตัวให้พร้อม รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเรื่องต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว และต้องปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์เสมอ จึงจะสามารถคว้าโอกาสมาเป็นของตนเองและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจในภาพรวมให้ได้

ความหมายของประเทศไทย 4.0 จึงไม่หยุดอยู่เพียงเรื่องการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังต้องอยู่ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็ว จึงต้องมีคุณสมบัติของการเรียนรู้ตลอดเวลา และปรับตัวให้รับกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านั้นได้ จึงจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ถ้าในอดีตที่มีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดความแข็งแรงในระบบการเงิน ด้วยการพัฒนาตลาดการเงิน (ทั้งตลาดทุน และตลาดเงิน ที่หมายรวมทั้งตลาดตราสารทุน และตลาดตราสารหนี้) ให้มีความแข็งแรงทัดเทียมกับระบบสถาบันการเงิน อันเหมือนกับการสร้างเก้าอี้ 3 ขา ที่มีความมั่นคงนั้น ในยุคปัจจุบัน การพัฒนา SME การพัฒนา Startup บนสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เต็มไปด้วยเทคโนโลยีของการเปลี่ยนแปลง (disruptive technologies) มากมายนั้น ก็นับว่าเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างที่จะสร้างความแข็งแรงให้ภาคธุรกิจจริง (real sector) และทำให้ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ในที่สุดแล้วก็จะตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจที่เป็นปากท้องของประชาชน และความเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคไปได้พร้อม ๆ กันนั่นเอง