HoonSmart.com>>ตลท.หวังหุ้นเพิ่มขึ้น 2 เท่าของ Forward EPS! เหมือนตลาดเพื่อนบ้าน จากปัจจุบันขยับไม่ถึง 2% ย้ำ 4 จุดแข็งเหนือจีน +เอเชียไม่รวมญี่ปุ่น แค่ขาดสตอรี่ดึงนักลงทุน ด้านทุนไหลเข้ารอปลดล็อค 2 ปัจจัย นโยบายทรัมป์กับดอกเบี้ยเฟด
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีจุดแข็ง ที่ได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน เพียงแต่ขาดสตอรี่ในการดึงเงินลงทุนเข้าประเทศสำหรับ จุดแข็งประกอบด้วย
1. สภาพคล่องสูง บริษัทจดทะเบียนไทยแทบไม่มีหนี้เลย ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ โดย 70% ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีกำไรสุทธิ และ 30% ROE สูงกว่า 10% แต่หุ้นยังไม่ขึ้น จึงฝากคำถามทิ้งท้ายไว้ว่าขณะนี้หุ้นไทยยังมีราคาถูกอยู่หรือเปล่า
2. นักลงทุนมีความหลากหลายประเภทในขณะที่ประเทศอื่น ในภูมิภาคเดียวกันส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน ในตลาดหุ้นไทยนักลงทุนสถาบัน มีแรงซื้อข้าวมามากในช่วงสิ้นปี และมีแนวโน้มว่าน่าจะเกิน 10% ผลจากการที่มีกองทุน ThaiESG ที่มีระยะเวลาถือลงทุน 5 ปี และจากสถิติที่ว่าดัชนีจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่าของ Forward EPS ที่ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นยังไม่ถึง 2 เท่า
3. ตลาดหุ้นไทยมีกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ โดยเป็นตลาดที่มีหุ้นโรงพยาบาลจดทะเบียนมากที่สุดแล้วก็มี ROE สูงสุดในภูมิภาค
4. ด้านความยั่งยืนตลาดหุ้นไทยมีบริษัทจดทะเบียน ที่ติดความยั่งยืนอยู่อันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังขาดสตอรี่ในการดึงเงินลงทุนกลับเข้ามาประเทศ ซึ่งหวังว่ามาตรการ เพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียน น่าจะเป็นอีกหนึ่งสตอรี่ ในการดึงเงินลงทุนกลับมา
ปัจจุบัน นักลงทุนต่างประเทศรอ ปัจจัยใน 2 เรื่อง คือนโยบายของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีการแถลงในวันที่จะเข้าปฏิญาณตนในวันที่ 20 มกราคมนี้ และการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐหรือว่าเฟด เรื่องการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบัน ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะลดแค่ 1-2 ครั้ง จากเดิมที่คาดว่าจะลด 3 ครั้งเพราะห่วงเรื่องเงินเฟ้อ หากความชัดเจนของทั้ง 2 เรื่องออกมา จะมีผลต่อการลงทุนของนักลงทุนในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทย ซึ่งปี 2568 ทุนไหลเข้า ตลาดหุ้นยังเป็นบวก จากปี 2567 ที่ออกไป 1.4 แสนล้านบาท
” หุ้นไทยมีโอกาสที่จะขึ้นไปได้อีก จากการที่รายได้ของบริษัทจดทะเบียนไทยเพิ่มขึ้นแต่ว่า หุ้นไทยขึ้นไปน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ไม่รวมญี่ปุ่น ดัชนีจะปรับขึ้น 2 เท่าของ Forward EPS แต่หุ้นไทย ที่มี Forward EPS โต 15.2% แต่ดัชนีปรับขึ้นไปไม่ถึง 2 เท่า แม้การเติบโตของตัวเลข Forward EPS จะสู้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาไม่ได้ แต่เหนือกว่าจีนกับอาเซียน ในแง่ของปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นไทย ได้กลับ ฟื้นขึ้นมาแล้ว แต่ดัชนียังไม่ตอบรับ จึงมองว่าหุ้นไทยมีโอกาสที่จะปรับขึ้นไปได้อีก”นายศรพล กล่าว
นายศรพล กล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานที่ว่ากลับมา ดีขึ้นนั้นประกอบด้วย GDP ที่สถาบันใหญ่ๆ ทั้งในและต่างประเทศมีการมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 ดีขึ้นกว่าปี 2567 และปี 2567 จีดีพีดีขึ้นทุกไตรมาสแม้ไตรมาส 4 จะยังไม่ออกแต่คิดว่าน่าจะดีขึ้นเพราะว่าการส่งออกแล้วการท่องเที่ยวกลับมา การส่งออก จำนวนนักท่องเที่ยว ที่ดีขึ้น
ผลตอบแทนดีครึ่งหลังปี’67
นายศรพล สรุป ภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์ เดือนธันวาคมและปี 2567 ว่า SET Index ในปี 2567 ปิดในระดับที่แทบไม่แตกต่างจากปีก่อนหน้า โดยตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
นอกจากนั้นนักวิเคราะห์ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 และปี 2568 ยังสามารถขยายตัวได้ดี นำโดยภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่อาจเผชิญความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลในรอบ 3 เดือน และมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้แคมเปญ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง 2025 Empowering Thais: A Real Possibility” โดยแบ่งนโยบายออกเป็น 2 กลุ่มหลัก รวม 11 นโยบาย ซึ่งน่าจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อหุ้นในหลาย Sector ที่เกี่ยวข้อง
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 SET Index ปิดที่ 1,400.21 จุด ทำให้ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 7.6% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2567 SET Index ปรับลดลงเพียง 1.1%
กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มการเงิน
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 40,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือนธันวาคม 2566
ขณะที่ในปี 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 46,551 ล้านบาท ลดลง 12.7% จากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม เห็นสัญญาณเกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขายผู้ลงทุนสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 10% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมด สามเดือนต่อเนื่อง
เดือนธันวาคม 2567 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. โรงพยาบาลนครธน (NKT) และ ใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. อินสไปร์ ไอวีเอฟ (IVF)
Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 16.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.8 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.8 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.6 เท่า
อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 3.45% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.17%
ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนธันวาคม 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 538,570 สัญญา เพิ่มขึ้น 10.4% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures ทำให้ในปี 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 483,772 สัญญา ลดลง 9.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures