HoonSmart.com>>ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง (ไม่รวมบริษัท ทุนธนชาต) แจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2563 มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 44,120.21 ล้านบาท ลดลงประมาณ 9,932 ล้านบาท คิดเป็น 18.38% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 54,052.45 ล้านบาท หลังจากธนาคารมีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 2 ครั้ง รวมถึงธุรกิจได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง โดยธนาคารทหารไทย (TMB) มีกำไรสุทธิถึง 4,163 ล้านบาท เติบโตมากที่สุด 163% จากระยะเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,578.84 ล้านบาท เกิดจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาตเต็มไตรมาสครั้งแรก
ขณะที่บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (LHFG) เป็นเพียงแบงก์เดียวที่มีผลขาดทุนสุทธิ 708 ล้านบาท พลิกจากปีก่อนมีกำไร 806 ล้านบาท ทำให้ผลงานแย่ลงมากที่สุด 187.84% เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่าและฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน (TFRS9) ส่งผลกระทบสำคัญต่อการจัดประเภทเงินลงทุนใหม่ กำหนดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ขึ้นอยู่กับราคาตลาดของเงินลงทุนในส่วนนี้ขาดทุนถึง 3,001 ล้านบาท ทำให้มีรายได้จากการดำเนินงาน -992 ล้านบาท พลิกจากที่ทำได้ 1,776 ล้านบาท โดยรวมแล้วแย่ลง 2,768 ล้านบาท คิดเป็น 155 % หากพิจารณาผลการดำเนินงานธุรกิจปกติดีขึ้น เช่น มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 1,278 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120 ล้านบาทหรือ 10.4% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 177 ล้านบาท เติบโต 3.2 ล้านบาทหรือ1.8%
ก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (ประเมินจากข้อมูลตามมาตรฐานบัญชีเดิมก่อน TFRS9) คาดธนาคารทั้งระบบจะมีกำไร 3.79-3.95 หมื่นล้านบาท ลดลง 25-28% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2562 ที่มีฐานสูง เพราะมีกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุน คาดสินเชื่อจะขยายตัวในกรอบ 2.2-2.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและ 2.3% เทียบกับสิ้นปี 2562 ทั้งนี้กำไรไตรมาส 1/63 เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส แต่ยังไม่ใช่จุดต่ำสุด คาดแนวโน้มไตรมาส 2 /2563 กำไรจะลดลงถึง 50% ส่วนในครึ่งปีหลังยังชะลอตัว แบงก์อาจจะมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น รองรับกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากผลกระทบของโควิด-19 และการล็อกดาวน์
สำหรับธนาคารที่มีกำไรสุทธิไตรมาส 1/2563 น้อยกว่าระยะเดียวกันปีก่อน เช่น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรสุทธิ 7,670 ล้านบาท ลดลง 15% ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ลดลง 34% เหลือ 6,581 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ลดลงถึง 44% เหลือกำไรสุทธิ 7,032 ล้านบาท หากพิจารณาเฉพาะกำไรจากการดำเนินงานพบว่าดีขึ้น บางแบงก์มีการตั้งสำรองหนี้มากกว่าภาวะปกติ เพื่อรองรับภาวะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้นในอนาคต
ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/2563 ลดลงเพียง 4.14% จากไตรมาส 4/2562 ที่มีกำไรสุทธิ 8,002 ล้านบาท แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้จะหดตัวอย่างหนักก็ตาม โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 15.3% จากการเติบโตของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อโดยใช้วิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.52% ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง 22.4% ส่วนใหญ่ที่ลดลงจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,115,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากสิ้นปี 2562 จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง สาเหตุหลักจากไตรมาส 4/2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิจากเงินลงทุนจำนวน 14,988 ล้านบาท กอปรกับเครื่องมือทางการเงินประเภทที่มาตรฐานบัญชีฉบับใหม่กำหนดให้วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมมีมูลค่าลดลงตามสภาวะตลาดเงินและตลาดทุนที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 28.8% อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 43.1%สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับไตรมาสแรกลดลงมาก เนื่องจากไตรมาสก่อนมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเสริมสร้างระดับสำรองของธนาคารให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามหลักความระมัดระวัง ก่อนการเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9)
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาเหตุที่มีกำไรลดลงมาก เพราะเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2562 มีกำไรสุทธิ 12,736 ล้านบาท ซึ่งเป็นกําไรพิเศษจำนวน 8,625 ล้านบาทจากการขายหุ้นของบริษัท เงินติดล้อ จำนวน 50% และหากเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/62 ก็ดีขึ้น เช่น สินเชื่อยังคงเติบโต 2.9% เพิ่มขึ้น 52,086 ล้านบาท จากสิ้นปี 2562 กลุ่มลูกค้าธุรกิจมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียน เงินฝากก็เพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท หรือ 6.4% รวมถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.94% เทียบกับ 3.52% ในไตรมาส 4/2562 แต่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ลดลง 9.2% หรือจำนวน 869 ล้านบาท และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs ) อยู่ที่ระดับ 2.22% เทียบกับ 1.98% ณ สิ้นปี 2562
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในไตรมาส 1/2563 กําไรจากการดําเนินงานอยู่ที่ 18,253 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 2,154 ล้านบาท หรือ 13.4% จากไตรมาส 4/2562 ปัจจัยหลักเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ 2.9% แม้จะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ระยะเวลาของการระบาดและการฟื้นตัวยังคงไม่แน่นอน ธนาคารจึงอยู่ในระหว่างการทบทวนเป้าหมายทางการเงินในปี 2563 ด้วยสมมติฐานว่าผลกระทบจากการระบาดของโรคจะมีความรุนแรงขึ้นในไตรมาส 2/2563